คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ใช้เวลาประชุมราว 3-4 ชั่วโมง เพื่อทบทวนและไตร่ตรองการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญให้สอดรับกับคำถามพ่วง โดยได้ข้อสรุปที่จะแก้ไขมาตราเดียวคือ มาตรา 272 แต่อาจปรับถ้อยคำในมาตราอื่นที่ผูกโยงและตีความเป็นอื่นไปด้วย และหลักการที่ได้คือ ไม่ว่ากรณีใด สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะไม่มีอำนาจในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติเลือก ทั้งกรณีของการเลือกจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองและกรณีของการเลือกบุคคลจากนอกบัญชีพรรคการเมือง
และตามมาตรา 272 ซึ่งว่าด้วยการเข้าชื่อเพื่อขอเปิดประชุมรัฐสภาและขอมติ 2 ใน 3 หรือ 500 เสียงจากสมาชิกรัฐสภา เพื่อยกเว้นการเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีของพรรคการเมืองนั้น ก็ให้เป็นสิทธิ์และเป็นอำนาจเฉพาะ ส.ส. เท่านั้น ที่จะเข้าชื่อกัน 250 คน ยื่นต่อประธานรัฐสภา ทั้งนี้ กรธ.ให้เหตุผลว่า เจตนาของร่างรัฐธรรมนูญก็เพื่อให้ ส.ส.หรือสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งนั้นรับผิดชอบต่อการบริหารบ้านเมือง ทั้งในสถานะฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ
ซึ่งขั้นตอนจากนี้ กรธ.จะใช้เวลาทบทวนความถูกต้องสมบูรณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายในสัปดาห์หน้า แต่มีข้อสังเกตว่าหาก สนช., สปท.หรือ ครม.และแม้แต่ คสช.ทำไมถึงมีท่าทีสอดรับกับหลักการของ สนช. โดยเฉพาะหลังการประชุมวันนี้ (24 ส.ค.2559) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. ยังอ้างอิงว่า วิป 3 ฝ่ายเห็นชอบตาม สนช. คือ ส.ว.ควรมีอำนาจในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในขยักที่ 2 ได้