พล.อ.ไพบูลย์ ให้สัมภาษณ์หลังกล่าวบรรยายในการประชุมหัวข้อ "บูรณาการควบคุมเมทแอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์ และนวัตกรรมยุติธรรมตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด" วันนี้ (29 ส.ค.2559) ว่าขณะนี้กระทรวงยุติธรรมอยู่ระหว่างการศึกษาถึงข้อดีข้อเสียและมาตรการต่างๆ ที่ต้องทำในการปลดสารเมทแอมเฟตามีนหรือที่รู้จักกันว่า "ยาบ้า" ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 หรือ "ยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง" มาอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 หรือ "ยาเสพติดให้โทษทั่วไป" ของพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ทั้งนี้เพื่อให้แพทย์สามารถนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยและบำบัดผู้ติดยาเสพติดได้ แต่ต้องควบคุมการใช้โดยแพทย์
"ขณะนี้กำลังให้ศึกษาอยู่ แต่จะไปถึงการปลดจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 1 ได้จะต้องปรับปรุงทั้งระบบให้สมบูรณ์เสียก่อน ซึ่งเราจำเป็นต้องทำ เพราะหากสารเมทแอมเฟตามีนยังอยู่ในบัญชียาเสพติดประเภท 1 แพทย์ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เราจึงต้องพิจารณาว่าทำอย่างไรถึงจะเอื้อให้แพทย์ใช้สารกลุ่มนี้ในทางสาธารณสุขได้ เพราะสารกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นสารที่มีฤทธิ์ร้ายแรงจนกระทั่งไม่สามารถนำมาใช้ในทางสาธารณสุขได้" พล.อ.ไพบูลย์กล่าว
ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า หากมองผู้เสพยาเสพติด รวมไปถึงสารเมทแอมเฟตามีนเป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษา ซึ่งการบำบัดมีความจำเป็นต้องให้ผู้เสพค่อยๆ ลดระดับการใช้เมทแอมเฟตามีน แต่เนื่องจากเมทแอมเฟตามีน ถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ไม่สามารถนำมาใช้เพื่อบำบัดรักษาได้ จึงมีการหารือเพื่อทบทวนให้แอมเฟตามีน และเมทแอมเฟตามีน จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ประเภท 2 ที่สามารถใช้ได้แต่ต้องควบคุมโดยแพทย์
พล.อ.ไพบูลย์ย้ำว่า แนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติด ต้องทำแบบบูรณาการ จะมุ่งเน้นเพียงการปราบปรามด้านเดียวไม่ได้ ข้อสรุปการแก้ไขปัญหาต่างๆ จึงขึ้นอยู่กับความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน หากว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมีความพร้อมและมีความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้สารชนิดนี้ หัวหน้าคสช.ก็อาจใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกคำสั่งหัวหน้า คสช.แก้ไขบัญชีประเภทสารเสพติดได้
อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมนี้เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านกระบวนการยุติธรรม นำข้อมูลไปประกอบการพัฒนาทิศทางการแก้ไขกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด พล.อ.ไพบูลย์กล่าว