การผลักดันให้ ส.ว.ชุดแรก มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ หากประเมินจากสุ่มเสียงของ สนช. และสปท. ดูจะผูกโยงและกำลังสอดรับกัน กับ"ป๋าเปรมโมเดล" ซึ่งมีการวิเคราะห์จากการผลักดันโครงสร้างและคาดการณ์ถึงแนวโน้มความเป็นไปได้ แต่โดยข้อเท็จจริง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกว่า "ผมก็คือผม"
และตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำด้วยว่า คิดเพียงทำงานในช่วงเวลาที่เหลือให้ดีที่สุด โดยยังไม่คิดถึงเรื่องอนาคตทางการเมือง และที่พูดอะไรบอกไป ก็ไม่ต้องไปตีความว่าส่งสัญญาณให้ใคร เพราะไม่ได้เกี่ยวกับใคร ไม่ได้เกี่ยวกับการตั้งพรรคการเมือง หรือเตรียมจะเป็นนายกรัฐมนตรี แบบ "ป๋าเปรมโมเดล"
ดังนั้น การเอ่ยถึง "ป๋าเปรมโมเดล" ไม่เพียงแค่แกนนำกลุ่ม นปช. หรือสมาชิกพรรคเพื่อไทยเท่านั้น แต่ยังหมายถึงต้นความคิด จากสมาชิก สปท. นั่นคือ นายวันชัย สอนศิริ โดยชี้ว่าโมเดลในอดีตสามารถนำมาปรับใช้กับปัจจุบันได้ เพราะเชื่อว่า มีความเป็นไปได้สูง ที่ ส.ส.จะไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรี จากบัญชีของพรรคการเมืองได้และจนถึงขณะนี้คนส่วนใหญ่ก็ยังสะท้อนถึงความเหมาะสมที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่ชี้ว่าอาจไม่เหมาะที่ ส.ส. หรือพรรคการเมือง จะเป็นฝ่ายเสนอชื่อ จึงกล่าวย้ำถึงกลไก รองรับ นั่นคือการเพิ่มความ ในมาตรา 272 ของบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ ให้ ส.ว.ร่วมเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี หลังส.ส.ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้แล้ว
สอดรับกับคำยืนยันของนายพรเพชร วิชิลชัย ประธาน สนช. ที่ระบุว่า ได้จัดเตรียมเอกสาร เกี่ยวกับคำถามพ่วง เพื่อเตรียมชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ขึ้นอยู่กับคำสั่ง ว่าจะเรียกขอข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาหรือไม่ และชี้ว่า โดยประสบการณ์นั้น ก่อนการวินิจฉัย ก็ควรรับฟังเหตุผลจากทุกฝ่าย
ล่าสุดนั้น นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ.เปิดเผยว่า ได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ปรับแก้ มาตรา 272 ตามคำถามพ่วง ให้ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว และย้ำที่จะเดินหน้าภารกิจต่อไป นั่นคือการร่างกฎหมายลูก เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และเมื่อ กรธ.ร่างกฎหมายลูกเสร็จ จะทิ้งช่วงเวลาไว้ระยะหนึ่ง เพื่อให้พรรคการเมืองได้ปรับบทบาทและเตรียมพร้อมเลือกตั้ง