ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

มูลนิธิชีววิถียันญี่ปุ่นจดสิทธิบัตรพืชกระท่อมไม่ใช่การค้นพบใหม่

สังคม
6 ก.ย. 59
20:56
664
Logo Thai PBS
มูลนิธิชีววิถียันญี่ปุ่นจดสิทธิบัตรพืชกระท่อมไม่ใช่การค้นพบใหม่
มูลนิธิชีววิถียืนยันการขอจดสิทธิบัตรสารอนุพันธุ์ในพืชกระท่อมของบริษัทมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นไม่ใช่การค้นพบใหม่ ขัดต่อหลักเกณฑ์การยื่นขอสิทธิบัตร ส่วนประเด็นระยะเวลาที่ขอจดสิทธิบัตรผ่านสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (พีซีที) ยังเกิดข้อถกเถียงและเห็นไม่ตรงกัน

สรรพคุณของสารสกัดจากกระท่อม 2 อนุพันธุ์ คือ สารไมทร้าไจนินและเซเว่น ไฮดร็อกซี่ ไมทราไจนิน ที่ช่วยระงับปวดและข้อมูลที่ยืนยันว่าสารสกัดจากกระท่อมได้รับการบันทึกในตำรายาอย่างเป็นทางการอย่างน้อย 16 ตำรับ แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพของไทย

วันนี้ (6 ก.ย.) นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี เปิดเผยว่า การค้นพบสารสกัดจากกระท่อมของญี่ปุ่น ที่เตรียมยื่นจดสิทธิบัตรนั้น ไม่ใช่การค้นพบใหม่ ซึ่งขัดต่อหลักเกณฑ์การยื่นขอสิทธิบัตร จึงเห็นว่าอาจเป็นทางเดียวในขณะนี้ที่ไทยจะใช้ยืนยันการไม่รับรองสิทธิบัตรของญี่ปุ่น พร้อมเรียกร้องให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา แก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรในมาตรา 7 ซึ่งต้องระบุแหล่งที่มาและเพิ่มมาตรการคุ้มครอง โดยระบุว่า "สารอนุพันธ์ที่พัฒนาจากสารธรรมชาติในสิ่งมีชีวิตต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม" รวมถึงเสนอถอดพืชสมุนไพรออกจากรายชื่อสารเสพติดและแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชโดยกำหนดที่มาของพืชที่จะขอจดทะเบียน

รายงานข่าวจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ไทยไม่สามารถคัดค้านได้ เนื่องจากสิ้นสุดกระบวนการ PCT ตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ขอต้องแสดงความประสงค์ภายใน 30 เดือนนับจากวันยื่นคำขอครั้งแรก โดยกรณีนี้พบว่ายื่นคำขอตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 แต่มีผลย้อนหลังโดยนับจากการขอครั้งแรกที่ญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ไทยยังใช้ประโยชน์จากใบกระท่อมได้ แต่ไม่สามารถผลิตสินค้าที่มีโครงสร้างเดียวกันไปขายประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ที่จดสิทธิบัตรได้

ขณะที่รายงานข่าวจากกรมวิชาการเกษตร ยืนยันว่า ที่ผ่านมายังไม่มีนักวิจัยมาขออนุญาตใช้พืชกระท่อมไปใช้ในการวิจัย ซึ่งพืชชนิดนี้เป็นพืชที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชปี 2542 หากจะศึกษาทดลองวิจัย ปรับปรุงพันธุ์ หรือเพื่อประโยชน์ทางการค้า ต้องขออนุญาตและต้องมีระบบแบ่งปันผลประโยชน์ รวมทั้งพิสูจน์ให้ได้ว่าพืชกระท่อมเป็นพืชในประเทศไทยหรือไม่ เพราะมีถิ่นกำเนิดในหลายประเทศ

ด้าน รศ.จักรกฤษ์ ควรพจน์ ผู้อำนวยการวิจัยฝ่ายกฎหมายเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า แม้ไทยจะเข้าร่วมพีซีทีตั้งแต่ปี 2553 แต่กฎหมายและกฎระเบียบรองรับ ยังไม่กำหนดเงื่อนไขการเข้าถึงข้อมูลและการแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งต่างจากประเทศฟิลิปปินส์และเวียดนามที่ออกกฎหมายรองรับแล้ว พร้อมเสนอให้ออกกฎหมายใหม่ เพื่อกำกับดูแลการใช้ประโยชน์ทรัพยากรครอบคลุมทุกประเภทและรวบรวมงานวิจัยต่อยอดเชิงพาณิชย์ พร้อมตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง