การเปิดประชุมปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21 ที่กรุงเนปิดอว์ เมียนมา ระหว่างวันที่ 31 ส.ค.- 3 ก.ย.2559 ถือเป็นก้าวแรกของการวางแนวทางสร้างสันติภาพ ยุติการสู้รบระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กับรัฐบาลเมียนมาที่เกิดขึ้นมานานกว่า 70 ปี โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ 17 กลุ่ม เข้าร่วม ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ลงนามหยุดยิงกับรัฐบาล พล.อ.เต็ง เส่ง และกลุ่มที่ยังไม่ลงนามหยุดยิง รวมทั้งพรรคการเมือง กองทัพ ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรระหว่างประเทศ
หลายฝ่ายมองว่าสาระสำคัญอันเป็นเป้าหมายของการประชุมปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21 คือการวางแนวทางรูปแบบการปกครองแบบสหพันธรัฐอย่างแท้จริง ที่แม้ผลการประชุมจะไม่มีข้อตกลงที่เป็นรูปธรรม แต่ความเคลื่อนไหวของเมียนมาเช่นนี้ น่าจับตามอง
ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าการประชุมครั้งนี้มีผลเกี่ยวเนื่องที่จะเกิดกับประเทศไทยซึ่งมีเขตแดนร่วมกับเมียนมา รวมทั้งจะสร้างแรงกระเพื่อมในระดับภูมิภาคที่อาจเห็นได้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช นักวิชาการจากโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยคอร์แนล กล่าวถึงนัยสำคัญของการประชุมปางโหลงว่า เป็นการพยายามแปลงโฉมรัฐเมียนมาให้เป็นสหพันธรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ บนหลักธรรมาภิบาล ซึ่งจะทำให้เกิดนวัตกรรมจัดสรรทรัพยากรและอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นแบบใหม่ โดยเน้นไปที่บทบาทของรัฐบาลมลรัฐตลอดจนภาคประชาสังคม
นัยยะสำคัญต่อประเทศไทยจะส่งผลให้เขตชายแดนประชิดไทย อาทิ รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยงหรือภาคตะนาวศรี มีการพัฒนาสถาบันการเมืองและรูปแบบการลงทุนใหม่ที่ทำให้นักธุรกิจไทยหรือหน่วยราชการไทยต้องกระชับสัมพันธ์กับตัวแสดงใหม่มากขึ้นเรื่อย
ความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นมีเช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดไทยกับมุขมนตรีเมียนมาตามมลรัฐชายแดน หรือการลงทุนในท้องถิ่นที่ต้องจัดสรรรายได้ ทรัพยากรกับสถาบันการเมืองใหม่ต้องพิจารณาถึงข้อเรียกร้องจากภาคประชาสังคมมากขึ้น ผศ.ดุลยภาคกล่าว
หากเปรียบเทียนเส้นทางการเจรจาสันติภาพของหลายๆ ประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน อย่างกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่กำลังเดินหน้าการพูดคุยสันติสุขกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ผศ.ดุลยภาค กล่าวว่า การประชุมขนาดใหญ่ ซึ่งเน้นกระบวนการปรองดองที่ร้าวลึกในอดีต เป็นโมเดลที่น่าสนใจต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบ เพียงแต่ว่า เรื่องสนธิสัญญาปางโหลงมีพลังที่เกี่ยวข้องกับการบูรณาการชาติในวงกว้างและครอบคลุมทุกองคาพยพ เนื่องจากสหภาพเมียนมาถือกำเนิดขึ้นมาได้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสัญญาปางโหลงในอดีต แต่กรณีของไทยนั้น ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นแตกต่างจากความขัดแย้งในเมียนมาซึ่งครอบคลุมทั่วประเทศ ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยจึงยังถือว่าเป็นปัญหาระดับท้องถิ่นหรือส่วนภูมิภาคเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม "ปางโหลงโมเดล" ก็นับว่าสะท้อนลักษณะการเมืองอาเซียนได้ดีอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ การแสดงพลังของการพัฒนาประชาธิปไตย การแก้ไขออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่และการแก้ไขความขัดแย้งด้านอาวุธ ชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นปฐมบทของการพัฒนาไปสู่ "สหพันธรัฐประชาธิปไตยแบบสันติภาพ"
ผศ.ดุลยภาคอธิบายเพิ่มเติมว่า เมียนมาถือเป็นกึ่งสหพันธรัฐ คือ มีรัฐบาลสองระดับ ได้แก่ รัฐบาลกลางกับรัฐบาลมลรัฐ แต่ยังมีการรวมศูนย์อำนาจที่มากอยู่ จึงไม่เป็นสหพันธรัฐที่แท้จริง สิ่งนี้สำหรับเมียนมา คือ กรณีที่กลุ่มชาติพันธุ์หลายๆ กลุ่มเรียกร้องมาตลอดเพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณปางโหลง 1947 ที่เคยประกันเรื่องการปกครองตนเอง (autonomy) ให้ดินแดนชาติพันธุ์ในระดับที่ค่อนข้างสูง แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา เมียนมามักรวมอำนาจปกครองรัฐไว้ที่กองทัพกับชนชาติพม่าแท้ จึงทำให้เกิดสงครามกลางเมืองการกบฏปฏิวัติเรื่อยมา
ฉะนั้น โจทย์ใหญ่ของเมียนมา คือ การออกแบบโครงสร้างสถาปัตยกรรมแห่งรัฐทั่วประเทศ เช่น ข้อเสนอบางกลุ่มที่ให้เมียนมาเปลี่ยนจาก 14 เขตบริหาร เป็น 8 รัฐ โดยคง 7 รัฐชาติพันธุ์แล้วแปลง 7 ภาค "พม่าแท้" ให้เป็น 1 รัฐ ที่เท่าเทียมกับรัฐอื่นๆ ซึ่งก็ทำให้คนพม่าแท้และทหารพม่าไม่ยอมเช่นกัน
ผศ.ดุลยภาค กล่าวว่า นอกจากปางโหลงโมเดลแล้ว กระบวนการสันติภาพในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ยังเป็นกระบวนการที่น่าสนใจ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ซึ่งมีธงในการเปลี่ยนประเทศเป็นสหพันธรัฐในอนาคตอันใกล้ และมีความพยายามที่จะพัฒนาเรื่องเขตปกครองพิเศษในแถบภาคใต้หรือมินดาเนา ซึ่งนับว่าน่าสนใจทั้งสำหรับประเทศไทย (กรณีภาคใต้) และเมียนมา (กรณีสหพันธรัฐนิยม)
ทั้งนี้ไทยมีรูปแบบเอกรัฐหรือรัฐเดียว นั่นคือมีรัฐบาลเดียวที่บริหารบังคับใช้กฏหมายเป็นแบบแผนเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งคล้ายกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ แต่อาจต่างกันที่ระดับกระจายอำนาจตามท้องที่ต่างๆ เช่น สามจังหวัดภาคใต้ อะเจะห์และมินดาเนา หากแต่ฟิลิปปินส์ได้ประกาศแนวคิดการตั้งรัฐรวมหรือสหพันธรัฐไปแล้ว
ด้านนายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ซึ่งติดตามสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ให้ความเห็นต่อการเปิดประชุมปางโหลงว่า การเปิดการพูดคุยที่แม้ว่ายังไม่ถึงขั้นระดับเจรจาครั้งนี้ มีส่วนช่วยให้สถานการณ์สู้รบระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และกองทัพเมียนมาที่ตึงเครียดผ่อนคลายลง แม้ว่าจะไม่ทั้งหมด เนื่องจากชนกลุ่มน้อยบางส่วนยังไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่นำโดยพรรคเอ็นแอลดี เพราะอำนาจการจัดการชายแดนยังอยู่ที่กองทัพ อย่างเช่นในพื้นที่ไทใหญ่ที่มีการปะทะอยู่บ้าง การนำมาสู่การประชุมปางโหลง จึงเป็นความพยายามในการสร้างความไว้วางใจ ซึ่งในระยะยาวมองว่าเอ็นแอลดีจะใช้เป็นเครื่องมือในการลดอำนาจทหารในทางการเมืองด้วย
การเจรจาเรื่องที่ยากไม่ใช่เรื่องทางการเมือง แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจ การบริหารจัดการพื้นที่ และทรัพยากร การประชุมครั้งนี้ ยังไม่นำให้เกิดการยุติการสู้รบ
อดิศร กล่าวอีกว่า ก่อนที่การประชุมปางโหลงจะมีขึ้น ได้มีการพูดคุยระดับพื้นที่มาโดยตลอด รวมทั้งการใช้พื้นที่ในเขตแดนฝั่งไทยด้วย ในฐานะประเทศที่มีชายแดนติดกัน อดิศรมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพในฐานะตัวกลางการเจรจา แต่ว่ารัฐบาลไทยหายไปจากกระบวนการนี้ ต่างจากในอดีตที่เคยแสดงบทบาทได้ดีในการสนับสนุนการเจรจาสันติภาพในศรีลังกา จึงอาจส่งผลให้ในอนาคตไทยอาจเสียพื้นที่ทางการเมืองในภูมิภาค รวมถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจบางส่วนในเมียนมา
ธันยพร บัวทอง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน