อาการของออฟิศซินโดรม ที่กล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่และส่วนต่างๆ ปวดเรื้อรังจากการหดเกร็งอยู่ในท่าเดิมนานๆ ทำให้เลือดลมที่กล้ามเนื้อไหลเวียนไม่สะดวก โดยแพทย์จีนจะใช้เข็มเล่มเล็กๆเป็นตัวช่วยสำคัญที่ใช้ในการรักษาและบรรเทาอาการได้
แพทย์จีนตรวจชีพจร ดูลิ้นและซักประวัติผู้ป่วยคนหนึ่งที่มีอาการปวดเมื่อยบริเวณ คอ บ่า ไหล่และนิ้วล็อค จากท่านั่งใช้คอมพิวเตอร์ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน การรักษาด้วยวิธีฝังเข็มจึงเริ่มขึ้น โดยเข็มขนาดเล็กถูกฝังลงผิวหนังตามจุดเส้นลมปราณ ที่ผู้ป่วยมีอาการปวด เริ่มตั้งแต่ต้นคอ ไหล่และหลังมือ
ครั้งนี้แพทย์จีนเลือกใช้ความร้อนจากโคมไฟร่วมกับการฝังเข็ม เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวดี ซึ่งนายปิยชาติ อัศววิโรจน์ แพทย์ด้านการฝังเข็มและยาจีน อธิบายว่า เข็มเล็กๆที่แทรกเข้าไปในกล้ามเนื้อบริเวณที่ปวด เพราะมีเลือดคั่งให้ไหลเวียนดีขึ้นได้ โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องใช้ยา หรือได้รับความเสี่ยงจากสารเคมีในการรักษา
"การฝังเข็มเป็นหัตถการอย่างนึงที่ไม่ใช้สารเคมี ทำให้กล้ามเนื้อที่ปวดเกิดการคลายตัวและลดการอักเสบ ประสิทธิภาพการรักษาเมื่อเทียบกับผลข้างเคียงที่อาจมีอาการช้ำหรือปวดตึง 2-3 ชั่วโมงหลังการฝังเข็ม ถือว่าได้ผลคุ้มค่า เมื่อคนไข้ปวดน้อยลงและไม่ต้องทานยา ก็จะช่วยรักษาอวัยวะภายในที่จะได้รับความเสี่ยงจากการใช้ยาด้วย" แพทย์ด้านการฝังเข็มฯ กล่าว
การฝังเข็มไม่ได้จำกัดเฉพาะรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อจากออฟฟิศซินโดรมเท่านั้น แต่ยังถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในการดูแลสุขภาพและบำบัดโรคต่างๆ อย่างโรคไขข้อเสื่อมในผู้สูงอายุ แม้ว่าการฝังเข็มจะไม่สามารถทำให้ข้อเข่าที่เสื่อมสึกหรอในผู้สูงอายุกลับคืนเป็นปกติเหมือนเดิม แต่ก็สามารถอาศัยฤทธิ์การฝังเข็มช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ คลายการหดเกร็งและทำให้กล้ามเนื้อของผู้สูงอายุแข็งแรงขึ้นได้
แพทย์จีน ยังระบุอีกว่า ประสิทธิภาพและความถี่ในการบำบัดและรักษากล้ามเนื้อด้วยวิธีฝังเข็มขึ้นอยู่กับอาการและความเห็นของแพทย์ อย่างกรณีของผู้ป่วยออฟฟิศซินโดรมเฉียบพลัน ไม่ได้ปวดเรื้อรัง การฝังเข็มอาจเห็นผลในครั้งแรกๆที่รักษา แต่ถ้าผู้ป้วยกลับไปนั่งท่าเดิมและใช้กล้ามเนื้อหนัก อาการปวดอาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
นอกจากโรคที่เกี่ยวกับอาการปวดกล้ามเนื้อแล้ว ปัจจุบันศาสตร์การรักษาด้วยการฝังเข็มได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก ว่าสามารถรักษาโรคต่างๆได้ ทั้งโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ภูมิแพ้ อัมพฤกษ์ อัมพาต รวมทั้งอาการปวดประจำเดือน โดยรักษาร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ก็มีข้อควรระวังในกลุ่มคนที่มีสถาพร่างกายอ่อนแอมากๆ อย่างหญิงตั้วครรภ์ คนที่มีความดันโลหิตสูง กินยาสลายลิ่มเลือด หรือผิวหนังอักเสบติดเชื้อ แพทย์แนะนำว่าคนกลุ่มนี้ไม่ควรรักษาด้วยการฝังเข็มเพราะอาจเกิดอันตรายได้