วันนี้ (12 ก.ย. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักศึกษาและอาจารย์จากวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม สามารถประดิษฐ์รถพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ เอสทีซีวัน คันแรกของประเทศไทยสำเร็จ โดยเอสทีซีวันสร้างจากเหล็กและไฟเบอร์จึงทำให้โครงสร้างของตัวรถเบา และยังสามารถวิ่งได้อีกประมาณ 2 ชั่วโมง ด้วยความเร็วที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แม้ไม่มีแสงอาทิตย์
นายนครินทร์ พลพิทักษ์ นักศึกษาคณะเทคโนโลยี สาขาวิศวกรรมพลังงาน วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม อธิบายว่า รถพลังงานแสงอาทิตย์คันนี้ใช้เวลาคิดค้นประมาณ 6 เดือน และประดิษฐ์ได้ภายใน 3 เดือนก่อนไปร่วมแข่งขันในรายการ World Solar Challenge 2015 ที่ประเทศออสเตรเลีย จุดเด่นอยู่ที่แผงโซลาร์เซลล์ 20 แผง ที่แปรพลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้าเก็บไว้ในแบตเตอรี และส่งตรงเข้าที่มอเตอร์ได้ทันที
ด้าน นายโกศาสตร์ ทวิชศรี อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมพลังงาน วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม กล่าวว่า ผลการเข้าร่วมแข่งขัน World Solar Challenge 2015 ที่ประเทศออสเตรเลีย จากเมืองดาร์วินไปถึงทางตอนใต้สุดของประเทศออสเตรเลียรวมระยะทาง 3,022 กิโลเมตร เอสทีซีวันผ่านขั้นการตรวจสอบมาตรฐาน และได้ร่วมการแข่งขันไปถึงเส้นชัยที่เมืองเอสเดอเดรดสำเร็จ
ขณะที่ นายฐกฤต ปานขลิบ คณบดีคณะเทคโนโลยี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม กล่าวว่า ในอนาคตจะพัฒนารถพลังงานแสงอาทิตย์ให้เทียบเท่ากับรถยนต์ปกติ โดยขณะนี้กำลังออกแบบและคิดค้นให้มีคุณภาพมากขึ้น
“อยากให้รัฐบาลให้การส่งเสริมทุกมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ในการคิดค้นประดิษฐ์นวัตกรรม เพื่อลดการนำเข้าหรือซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เชื่อว่าถ้ามีการสนับสนุนอย่างจริงจัง ประเทศไทยจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้น” คณบดีคณะเทคโนโลยี วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รถพลังงานแสงอาทิตย์เอสทีซีวัน ใช้งบประมาณในการประดิษฐ์ประมาณ 3 แสนบาท ระหว่างขับขี่ไม่มีการปล่อยมลพิษซึ่งสามารถลดปัญหาโลกร้อนได้