วันนี้ (14 ก.ย. 2559) นพ.ณัฐพร วงษ์สุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ ประชาชนมักนิยมเลือกซื้อขนมไหว้พระจันทร์เป็นของฝากผู้ใหญ่ หรือซื้อมาบริโภคกันภายในบ้าน ซึ่งปัจจุบันขนมไหว้พระจันทร์มีไส้ให้เลือกจำนวนมาก ทำให้ถูกปากผู้บริโภคมากขึ้น แต่ขนมไหว้พระจันทร์มีแป้งและน้ำตาลเป็นส่วนประกอบหลัก และยังมีน้ำมัน น้ำเชื่อม เมื่อผสมกับไส้ต่างๆ จึงกลายเป็นขนมที่ให้พลังงานสูงมาก
นพ.ณัฐพร กล่าวว่า ขนมไหว้พระจันทร์ขนาดปกติ 1 ชิ้น น้ำหนัก 166 กรัม ให้พลังงาน 614-772 กิโลแคลอรี ซึ่งสูงกว่าข้าวผัดหมู ผัดไทยกุ้งสด ข้าวผัดกะเพราไก่ไข่ดาว หรือ เส้นใหญ่ผัดซีอิ๊ว 1 จาน แม้จะตัดแบ่งออกเป็น 6 ส่วน ก็ยังให้พลังงานถึง 96-120 กิโลแคลอรี
ส่วนขนมไหว้พระจันทร์ชิ้นเล็กให้พลังงานแตกต่างกันตามชนิดของไส้ อาทิ
ไส้โหงวยิ้งให้พลังงาน 120.3 กิโลแคลอรี
ไส้เมล็ดบัวและไข่ให้พลังงาน 112.8 กิโลแคลอรี
ไส้เม็ดบัวให้พลังงาน 107.6 กิโลแคลอรี
ไส้หมอนทองให้พลังงาน 106.7 กิโลแคลอรี
ไส้ทุเรียนให้พลังงาน 102.3 กิโลแคลอรี
ไส้พุทราให้พลังงาน 96.2 กิโลแคลอรี เป็นต้น
“ใน 1 วัน เมื่อกินขนมไหว้พระจันทร์ ควรเลี่ยงขนมหวานอื่นๆ และควรควบคุมปริมาณการกิน โดยแบ่งกินเป็นชิ้นเล็กเพื่อป้องกันไม่ให้ได้รับพลังงานเกินความต้องการของร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลให้น้ำหนักเพิ่ม อ้วนลงพุง และเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ ตามมา ทั้งนี้ ก่อนกินขนมไหว้พระจันทร์ทุกครั้งต้องดูวันผลิตหรือวันหมดอายุ รวมทั้งสังเกตกลิ่นและสีของขนมว่าผิดปกติหรือไม่ หากพบว่ามีกลิ่นและสีที่เปลี่ยนไป ควรงดบริโภคทันทีเพื่อความปลอดภัย” รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว