ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

The Editors Society การลงสนามออนไลน์ของอดีต บก.นิตยสารแฟชั่น

ไลฟ์สไตล์
15 ก.ย. 59
16:03
664
Logo Thai PBS
The Editors Society การลงสนามออนไลน์ของอดีต บก.นิตยสารแฟชั่น
เมื่องานเขียนยังเป็นชีวิต อดีตบรรณาธิการนิตยสารแฟชั่นดังจึงรวมตัวถ่ายทอดสิ่งที่รัก หลังการปิดตัวของนิตยสารหลายหัว เชื่อว่าประสบการณ์และฝีมือจะดึงคนอ่านในโลกออนไลน์ หากก็ต้องปรับมุมมองกันไม่น้อย

หนุ่มโซเชียลคนไหนเป็นดาวเด่น ติดแฮชแท็กเยอะ ก็ได้พื้นที่หน้าเว็บในคอลัมน์พาดหัว กลยุทธ์ใช้คนดังบนโลกโซเชียลเจาะกลุ่มเป้าหมายบนหน้าเพจของ The Editors Society เว็บไซต์น้องใหม่ ที่เกิดจากการรวมตัวของอดีตบรรณาธิการนิตยสารสายแฟชั่น หนึ่งในนั้นคือ อนณ พวงทับทิม อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Volume หวนคืนวงการอีกครั้งหลังปิดตัวนิตยสารดังที่อยู่คู่แผงหนังสือกว่า 1 ทศวรรษเมื่อต้นปีที่ผ่านมา สร้างจุดแข็งดึงอดีตคอลัมนิสต์จากงานสิ่งพิมพ์ ที่มีประสบการณ์และความน่าเชื่อถือ ประกาศตัวลงสนามนิตยสารออนไลน์ แม้แพลทฟอร์มใหม่จะไม่คุ้นมือ หากเมื่อต้องปรับตัว ก็ไม่เกินความสามารถที่อดีตคนวงการสิ่งพิมพ์จะเรียนรู้


"การที่อยู่ในแวดวงสิ่งพิมพ์มาก่อน ทำให้มีแฟนประจำ รวมทั้งเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ไม่ว่าจะในกลุ่มคนอ่าน หรือกลุ่มของลูกค้า จะมีความรู้สึกว่าชอบงานเขียนของคนนี้ เพราะเราเขียนมาเป็น 20-30 ปี ส่วนสิ่งที่ยากในการเข้าสู่ออนไลน์คือเรื่องเทคนิคทางดิจิทัล ซึ่งทำให้ต้องปรับตัวในการฟีดเรื่อง คอนเทนต์ นั่นเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้" อนณ พวงทับทิม บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ The Editors Society

 

 

ข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตที่ท่วมท้นและรวดเร็ว ทำให้คนวงการสิ่งพิมพ์มองเห็นข้อบกพร่องของสื่อใหม่ ซึ่งอาจไม่ผ่านการตรวจสอบ เช่นระบบบรรณาธิการเหมือนงานหนังสือ อดีตคอลัมนิสต์รุ่นเก๋าที่การก้าวสู่สนามดิจิทัลจึงหวังสร้างมาตรฐานให้กับการผลิตคอนเทนต์ในโลกออนไลน์

"การเขียนเราต้องหาข้อมูลหลายส่วน ทำให้ความรู้เรื่องต่างๆ ถูกต้องน่าเชื่อถือ" ลลิดา สันพินิจสุนทร อธิบาย

"เมื่อเป็นดิจิทัลต้องตรวจสอบตัวเอง ไม่มีปรูฟ ก่อนนำเรื่องขึ้นสู่ออนไลน์ต้องอ่านแล้วอ่านอีก" ออมสิน แสนล้อม คอลัมนิสต์ด้านความงาม

ช่องทางสร้างรายได้ นอกจากการขายโฆษณาในแบบปกติแล้ว เมื่อลงมาสู่ตลาดนิตยสารออนไลน์ รูปแบบหนึ่งที่ใช้คือการร่วมมือกับแบรนด์สินค้า เพื่อให้ผู้อ่านสามารถช็อปปิ้งออนไลน์ได้ทันทีหลังอ่านรีวิว นี่เป็นอีกการปรับตัวของคนวงการสิ่งพิมพ์ในตลาดออนไลน์ เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง

แม้ไม่หวังเห็นวันรุ่งเรืองของสิ่งพิมพ์เช่นในอดีต หากกลุ่มคนทำนิตยสารมากประสบการณ์ก็เชื่อว่าหนังสือรูปเล่มจะยังไม่หาย แต่จะอยู่ในรูปแบบของสะสมที่ให้คุณค่าด้านจิตใจ ขณะที่คนทำงานก็ยังคงต้องเรียนรู้และปรับตัวกับวงการสื่อที่เปลี่ยนผ่านอย่างไม่รู้จบ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง