นายดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนามนุษย์ ธนาคารโลกประจำประเทศไทย วิเคราะห์สถานการณ์แรงงานของไทยโดยอาศัยข้อมูลการศึกษาของธนาคารโลกในช่วงที่ผ่านมา พบว่าขณะนี้คุณภาพของแรงงานไทยอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง
แม้แรงงานไทยจะมีระดับการศึกษาสูงขึ้น โดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา ที่เพิ่มจากไม่ถึงร้อยละ 5 ในปี 2530 มาเป็นร้อยละ 12 ในปี 2556 แต่ผลิตภาพแรงงานและค่าจ้างของแรงงานในทุกกลุ่มการศึกษา โดยเฉพาะในกลุ่มทักษะประจำ (routine skill) ที่จบชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศกลับต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด นายดิลกะกล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์พิเศษ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2559
ไทยขาดแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพราะคุณสมบัติไม่ตรง-เด็กจบใหม่มุ่งทำงานนอกระบบ
นายดิลกะอ้างถึงตัวเลขจากการศึกษาวิจัยของธนาคารโลกประจำประเทศไทยที่พบว่า ในช่วงปี 2530-2539 ค่าจ้างแรงงานไทยสูงขึ้นมากถึงร้อยละ 7.1 แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ค่าจ้างแรงงานไทยเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.7 ส่วนอัตราการจ้างงานไม่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนทางด้านเศรษฐกิจ ที่ไม่เคยกลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มที่หลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ขณะที่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมลดลง และผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีเข้ามาทดแรงงานมนุษย์มากขึ้น
"สาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ของแรงงานไทยส่อเค้าวิกฤต ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยไปไม่ได้ไกล ทั้งที่มีโอกาสเร็วกว่าและมากกว่าประเทศอาเซียนด้วยกัน เพราะแรงงานที่มีการศึกษาสูงระดับปริญญาตรี โดยเฉพาะกลุ่มที่เพิ่งจบการศึกษา หันไปทำงานในภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการในกลุ่มค้าปลีกและค้าส่งมากถึงร้อยละ 25 ในปี 2556 ซึ่งเป็นอาชีพอันดับ 1 ที่แรงงานอุดมศึกษาให้ความสนใจ จากทั้งหมด 14 อาชีพ ที่มีแรงงานทำมากที่สุดในประเทศ” นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนามนุษย์ ธนาคารโลกประจำประเทศไทย ระบุ
การศึกษาของธนาคารโลกยังพบด้วยว่า ทักษะของแรงงานที่มีการศึกษาระดับสูงระดับมัธยมศึกษาและปริญญาตรีส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 42 ไม่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการผลิต
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า ในแต่ละปี กลุ่มแรงงานไร้ฝีมือของไทยราว 1 ล้านคนออกนอกระบบตลาดแรงงานหรือว่างงานถึง 6 เดือนต่อปี
นายดิลกะเชื่อว่าผลิตภาพของแรงงานไทยยังสามารถปรับปรุงได้อีกมาก แต่จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในหลายด้าน “การจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ” จึงเป็นกุญแจดอกสำคัญ ที่จำเป็นต่อการเพิ่มผลิตภาพแรงงานและลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาว
แนะ ศธ.ควบรวมโรงเรียนและตั้ง “โรงเรียนศูนย์กลาง” ปูฐานนักเรียนสู่แรงงานศักยภาพสูง
ข้อมูลจากโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA) ด้านการอ่านในกลุ่มอายุ 15 ปี ประจำปี 2555 พบว่านักเรียนไทยจำนวน 1 ใน 3 หรือร้อยละ 32 รู้หนังสือไม่เพียงพอจะใช้งานได้ และเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนในเวียดนาม พบว่าความสามารถของเด็กไทยด้อยกว่าเวียดนามประมาณ 1.5 ปี
ขณะที่ ฐานะทางครอบครัวซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ มีช่องว่างระหว่างกันมากขึ้นจากร้อยละ 40 ในอดีต ปัจจุบันเยาวชนมีฐานะดีจะได้โอกาสทางการศึกษาที่ดีมากกว่ากลุ่มเด็กยากจนถึงร้อยละ 60 ด้านศักยภาพของโรงเรียนขนาดเล็กประจำหมู่บ้านก็ถดถอยลง โดยพบว่าความสามารถของนักเรียนจากโรงเรียนดังกล่าว มีน้อยกว่านักเรียนในโรงเรียนเขตเมืองถึง 1.8 ปี
ข้อมูลจาก PISA ยังทำให้ทราบด้วยว่า การจัดสรรทรัพยากรสำหรับโรงเรียนมัยธยมในประเทศไทยในปัจจุบัน ขาดแคลนและเหลื่อมล้ำมากกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลโรงเรียนระดับประถมศึกษา สังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่พบว่าจำนวนครูขาดแคลนเข้าขั้นวิกฤต
“เราพบว่าปัจจุบัน โรงเรียนประถมศึกษา สังกัด สพฐ.ทั่วประเทศ ร้อยละ 56 มีครูเฉลี่ยไม่ถึง 1 คนต่อห้อง ส่วนอีกร้อยละ 63 มีครูไม่ถึง 1 คนต่อชั้นเรียน ซึ่งการขาดแคลนครูจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กมีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 69 ของโรงเรียนประถมศึกษาทั้งหมด ที่สังกัดอยู่กับ สพฐ.” นายดิลกะกล่าว
นายดิลกะอธิบายต่ออีกว่า ถ้าเพิ่มจำนวนครูเข้าไปในสถานศึกษาเพียง 1 คน จะช่วยให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนดีขึ้นถึงร้อยละ 15 จึงเป็นที่มาของข้อเสนอที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการให้เกิดการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการสอน
หากทำตามแผนจำลองการจัดสรรครูให้เพียงพอต่อทุกห้องเรียนในประเทศไทย โดยในระดับประถมศึกษา ต้องมีครูไม่ต่ำกว่า 1.136 คนต่อห้อง การสอนต่อสัปดาห์ต้องไม่เกิน 25 ชม.ต่อคน หรือ 100 ชม.ต่อคนต่อเดือน ระดับมัธยมศึกษา ต้องมีครูไม่ต่ำกว่า 1.591 คนต่อห้อง การสอนต่อสัปดาห์ต้องไม่เกิน 35 ชม.ต่อคน หรือ 140 ชม.ต่อคนต่อเดือน พบว่าประเทศไทยต้องใช้ครูเพิ่มอีกอย่างน้อย 1.08 แสนคน
นายดิลกะเสนอว่า แผนเบื้องต้นต่อการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ คือการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กผ่านการจัดเครือข่าย และลงทุนตั้ง “โรงเรียนศูนย์กลาง” ให้มีคุณภาพ
“ร้อยละ 85 ของโรงเรียนขนาดเล็ก 19,864 แห่ง ซึ่งมีนักเรียนน้อยกว่าหรือเท่ากับ 20 คนต่อระดับชั้น ส่วนมากตั้งอยู่ในระยะการเดินทางถึงกันได้ไม่เกิน 20 นาที ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการต้องหาวิธีการให้โรงเรียนเหล่านี้ควบรวมกัน เพื่อปันทรัพยากรให้พอเพียงต่อการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ หรือพัฒนาให้โรงเรียนขนาดกลางที่มีอยู่ 4,514 โรง และโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ห่างไกลอีก 3,124 โรง ให้กลายเป็นโรงเรียนคุณภาพ สามารถดึงดูดนักเรียนจากโรงเรียนขนาดเล็ก 1.59 ล้านคนได้ ผลลัพธ์สุดท้ายจะทำให้ระบบการศึกษาไทยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กที่มีคุณภาพเพียง 15,854 โรง จากเดิมที่มีอยู่ทั้งหมด 31,193 โรง นั่นหมายถึงรากฐานของการศึกษาที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาผลิตภาพแรงงานไทย รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย” นายดิลกะกล่าว
สิรินภา อิ่มศิริ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน