วันนี้ (27 ก.ย. 2559) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยข้อมูลสถิติรับเรื่องร้องด้านโทรคมนาคมของสำนักงาน กสทช. ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2554 ถึงวันที่ 31 ส.ค. 2559 พบว่า ตั้งแต่ปี 2555-2556 ประชาชนร้องเรียนเข้ามายังสำนักงาน กสทช.เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ประมาณร้อยละ 3-8 โดยในปี 2554 จำนวนเรื่องร้องเรียนอยู่ที่ 2,184 เรื่อง และเพิ่มเป็น 2,265 เรื่องในปี 2555 ขณะที่ในปี 2556 เพิ่มเป็น 2,437 ปี 2557 มี 2,210 เรื่อง ส่วนปี 2558 มี 2,913 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 30 ส่วนในปี 2559 ที่ยังไม่ครบปี แต่มีเรื่องร้องเรียนจากประชาชนถึง 31 ส.ค.แล้ว 3,224 เรื่อง
ทั้งนี้ ทางสำนักงานฯ สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนและยุติเรื่องร้องเรียนในปี 2559 ได้ทั้งสิ้น 2,588 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 80.27 จากเรื่องร้องเรียนทั้งหมด โดยเรื่องร้องเรียนในปีนี้ แบ่งเป็น 1.เรื่องร้องเรียนบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2,407 เรื่อง 2.เรื่องร้องเรียนบริการอินเทอร์เน็ต 637 เรื่อง 3.เรื่องร้องเรียนบริการโทรศัพท์ประจำที่ 45 เรื่อง 4.เรื่องร้องเรียนสถานีวิทยุคมนาคม/เสาสัญญาณ 95 เรื่อง และ 5.เรื่องร้องเรียนอื่นๆ อีก 40 เรื่อง
นายฐากรกล่าวต่ออีกว่า เมื่อดูรายละเอียดของสถิติการร้องเรียนพบว่า สถิติเรื่องร้องเรียนกรณีคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการที่ไม่ดี ไม่ตรงตามที่มีการโฆษณาไว้ ตั้งแต่ปี 2554-2559 มี 1,152 เรื่อง โดยในปี 2559 เรื่องร้องเรียนดังกล่าวลดลงจนมีจำนวนน้อยที่สุด 119 เรื่อง
สำหรับสถิติการร้องเรียนกรณีผู้ใช้บริการได้รับ SMS โดยที่ไม่ได้สมัครใช้บริการ มีทั้งสิ้น 782 เรื่อง แต่หลังจากปี 2558 เป็นต้นมา เรื่องร้องเรียนดังกล่าวลดลงอย่างชัดเจนเป็น 119 เรื่องในปี 2558 และลดลงเหลือ 81 เรื่องในปี 2559 ซึ่งเป็นผลจากการออกมาตรการยกเลิก SMS กวนใจ-กินเงิน ผ่านช่องทาง *137
ในส่วนของสถิติเรื่องร้องเรียนกรณีถูกบังคับขายพ่วงบริการที่ผู้ใช้บริการไม่มีความต้องการใช้งานพบว่า ตั้งแต่ปี 2554-2559 มีเรื่องร้องเรียน 6 เรื่อง
“จำนวนเรื่องร้องเรียนที่มากขึ้น อาจเป็นผลมาจากการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนร้องเรียนกรณีพบปัญหาจากการใช้บริการโทรคมนาคม อาทิ สายหลุด ย้ายค่ายไม่ได้ เป็นต้น มายังศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของสำนักงาน กสทช. หมายเลขโทรศัพท์ 1200 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย” เลขาธิการ กสทช.ระบุ