ไร่นาสวนผสมพื้นที่ 5 ไร่ของบังอร ไชยเสนา ชาว ต.ฮางโฮง อ.เมืองสกลนคร เป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ยึดการทำเกษตรตามแนวทางทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลังได้เข้าไปเรียนรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อกว่า 20 ปีก่อน
บังอร เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทโส้ อพยพมาจาก อ.กุสุมาลย์ จากเด็กสาวอายุ 17 ปีที่เคยใช้ชีวิตอดมื้อกินมื้อ ต้นทุนชีวิตติดลบ แม้แต่เมล็ดผักยังต้องไปเก็บตามไร่นาที่เจ้าของไม่เก็บแล้วนำมาปลูกเพื่อนำไปขายต่อ แต่หลังจากได้อบรมและเรียนรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน ทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปจนสามารถเก็บเงินซื้อที่ดินเป็นของตัวเองและทำไร่นาสวนผสมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
เขาเชื่อว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เปรียบเสมือนพ่อที่ให้ชีวิตใหม่ แม้จะไม่เคยได้รับเสด็จพระองค์ท่าน ไม่เคยเห็นพระพักตร์พระองค์จริง แต่สิ่งที่พ่อทิ้งไว้ให้คือมรดกที่ยิ่งใหญ่ เป็นเข็มทิศนำทางของเขาและครอบครัว
ส่อม วงศ์สีดา ชาวบ้านนานกเค้า ต.ห้วยยาง อ.เมืองสกลนคร เป็นอีกหนึ่งคนที่เคยถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินในพื้นที่บ้านนานกเค้า และเขาได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายที่ดิน 14 ไร่เพื่อก่อสร้างศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งปัจจุบันเขารู้สึกภาคภูมิใจที่ศูนย์แห่งนี้มีชาวบ้านได้ประโยชน์ทั้งในและนอกพื้นที่
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2525 ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นแบบจำลองส่วนย่อที่สอดคล้องกับการแก้ปัญหาและศึกษาวิธีการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กว่า 30 ปีที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานได้เร่งพัฒนา 5 ด้าน ทั้งการพัฒนาเกษตรกรรม, การพัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน, การพัฒนาป่าไม้, การพัฒนาปศุสัตว์ และการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการประมง ครอบคลุมพื้นที่ 11,300 ไร่ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกเฉพาะใน จ.สกลนคร ที่ยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำริกว่า 20,000 ครอบครัว