วันนี้ (3 พ.ย.2559) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดรับฟังคำแถลงปิดสำนวนถอดถอนด้วยวาจา ทั้งกรณีของนายนริศร ทองธิราช ซึ่งถูกกล่าวหา กรณีใช้บัตรลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ลงคะแนนแทนบุคคลอื่น ระหว่างการประชุมรัฐสภาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ในวันที่ 10 และ 11 กันยายน ปี 2556 และกรณีของนายอุดมเดช รัตนเสถียร ซึ่งถูกกล่าวหาสลับสับเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่เสนอต่อประธานรัฐสภาเมื่อปี 2556
น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ย้ำว่า กรณีของนายนริศร มีคลิปภาพชัดเจนว่า เสียบบัตรลงคะแนนถึง 3 ครั้ง ทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐสภา ยืนยันว่าออกบัตรให้สมาชิกแต่ละคนเพียง 1 ใบ เท่ากับทุจริตขัดมาตรา 126 วรรคสามของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กำหนดให้สมาชิกรัฐสภามี 1 เสียงเท่านั้น และยังส่งผลให้มติที่ออกมามิชอบ
ขณะที่นายนริศร แถลงว่าสมาชิกมีบัตรสำรอง ยืนยันไม่ได้กดบัตรแทนบุคคลอื่น และมองว่าการกล่าวหาไม่มีน้ำหนักเพราะไม่มีพยานบุคคล และย้ำว่าโดนกลั่นแกล้งโดยการพิจารณาลงมติถอดถอน สนช.มีธงมาให้ถอดถอนตั้งแต่แรก
ส่วนกรณีของนายอุดมเดช น.ส.สุภา ระบุว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยื่นต่อประธานรัฐสภาวันที่ 20 มีนาคม 2556 มีจุดแตกต่างกับร่างที่สมาชิกรัฐสภาได้รับเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2556 จากเหตุที่นายอุดมเดชได้สลับปรับเนื้อหาในร่าง โดยแก้ไขเพิ่มเติมสาระสำคัญให้ ส.ว.ที่สิ้นสมาชิกภาพไปแล้ว สามารถลงเลือกตั้งใหม่ได้ โดยไม่ต้องเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี ซึ่งเท่ากับว่าเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่มีสมาชิกลงมติรับรอง และไม่เป็นไปตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ที่ประชุม สนช. จะมีการลงมติถอดถอนหรือไม่ทั้งสองกรณีในวันพรุ่งนี้ โดยต้องมีคะแนนเสียงถอดถอนไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 หรือ ไม่น้อยกว่า 150 เสียง จากสมาชิก สนช.250 คน ขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวว่ามีความพยายามแทรกแซงจากนักการเมืองบางคน เพื่อให้ สนช. มีมติไม่ถอดถอนนายอุดมเดช โดยมีรายงานว่า ขณะนี้เสียงของ สนช.ยังก้ำกึ่งกันระหว่างเสียงถอดถอนและไม่ถอดถอน