วันนี้ (6 พ.ย. 2559) “หากต้องเลือกระหว่าง โดนัลด์ ทรัมพ์ กับ ฮิลลารี คลินตัน เพื่อหยุดยั้งสงครามและความรุนแรง ฉันขอเลือก โดนัลด์ ทรัมพ์ค่ะ ลองคิดดูว่าถ้าเราใช้ความเกรี้ยวกราดของเขามากระตุ้นมวลชน และใช้สิ่งนี่เป็นข้อได้เปรียบได้"
คำตอบที่ไม่มีใครคาดคิดของ "นิโคล กอร์โดเวซ" สาวงามจากฟิลิปปินส์ ในรอบตอบคำถามเวทีมิสแกรนด์อินเตอร์เนชันแนล 2016 เพราะถึงแม้เธอจะตอบในสิ่งตรงกันข้ามกับความคาดหวังคนดู หากสามารถใช้ชั้นเชิงการพูดเปลี่ยนเสียงโห่ให้กลายเป็นมงกุฏรองชนะเลิศอันดับ 1
ซึ่งสาวงามจากแดนพันเกาะเผยว่า การเลือกตอบคำถามให้ไม่เหมือนคนอื่น เป็นกลยุทธ์ที่เธอวางไว้แต่แรกเพื่อให้ตัวเองดูแตกต่าง
เหตุการณ์ดังกล่าวบอกถึงการเตรียมตัวตอบคำถามของนางงาม ว่าการจะพิชิตมงกุฏได้นั้น ยังมาจากกลยุทธ์ส่วนตัวก่อนขึ้นเวที
ขณะที่ อริสกา ปุตรี เปอตีวี มิสแกรนด์อินเตอร์เนชันแนล 2016 บอกว่า ในบางเวทีก่อนที่จะถึงรอบแสดงทักษะทางการพูด นางงามอาจพอรู้แนวทางคำถามกว้างๆ เพื่อฝึกซ้อมก่อนได้ แต่ในรอบที่ต้องตอบแบบสดๆ โดยที่ไม่ได้เตรียมตัวก่อนก็ยากที่จะตอบให้ดีและครบถ้วน
ความท้าทายของรอบตอบคำถาม ทำให้นางงามหลายประเทศต้องฝึกซ้อมในแทบทุกลมหายใจ เห็นได้จากมิสยูนิเวิร์สคนล่าสุด “เปีย อลอนโซ” ที่มีสมุดโน้ตจดประเด็นคำถามต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้บนเวทีประกวด และจะฝึกตอบคำถามเหล่านั้นอยู่เสมอ
คำตอบที่ดีหรือแย่ สามารถพลิกชะตาผู้เข้าประกวดได้ทุกเมื่อ อย่าง “มิเรียม ควิมเบา” ตัวเต็งจากฟิลิปปินส์บนเวทีมิสยูนิเวิร์ส ปี 1999 ที่ชวดมงกุฏเพราะตอบคำถามไม่ดีพอ หลังถูกถามความเห็นว่าหากนางงามจักรวาลตั้งครรภ์เธอยังควรครองตำแหน่งต่อหรือไม่
โดยเธอพ่ายให้กับ “เอ็มปูเล คเวลาโกเบ้” ผู้ครองตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สจากบอสวานา ที่ให้คำตอบว่า "มิสยูนิเวิร์สคือสัญลักษณ์ความเป็นผู้หญิง ดังนั้นถ้าหากเธอตั้งครรภ์จึงไม่เห็นว่าเธอควรสละตำแหน่ง เพราะการที่มีหนึ่งชีวิตอยู่ในร่างกายก็คือการเฉลิมฉลองความเป็นผู้หญิงนั่นเอง"
นอกจากชั้นเชิงในการพูด การตอบคำถามโดยรู้จักบริบททางสังคมยังเป็นเคล็ดลับคว้ามงกุฏเช่นกัน เห็นได้จาก “ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก” นางงามจักรวาลคนที่ 2 ของไทย เมื่อถูกถามถึงทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษที่คล่องแคล่ว เธอตอบได้อย่างน่ารักว่าเพราะเธอชอบดูบิ๊กเบิร์ด ตัวละครในรายการสอนภาษาอังกฤษทางโทรทัศน์ชื่อดังของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นคำตอบที่ได้ใจเจ้าภาพอย่างอเมริกา ซึ่งผู้จัดการประกวดในปีนั้น
รอบตอบคำถามอาจเป็นพื้นที่ให้หญิงสาวได้แสดงทัศนคติ และลบคำสบประมาทที่ว่าเวทีขาอ่อนมีแต่เพียงเรื่องความสวยความงาม
หากอีกแง่หนึ่งในยุคที่การประกวดแต่ละเวทีแข่งขันสูง ยิ่งเวทีไหนตั้งคำถามเชิงการเมืองและสังคมได้เผ็ดร้อนเท่าไหร่ก็อาจเรียกเรตติ้งให้เวทีได้
รอบตอบคำถามจึงเป็นมากกว่าแค่องค์ประกอบหนึ่งของการประกวดที่เกิดขึ้นแล้วจบไป แต่ยังเป็นส่วนเติมเต็มที่ขาดไม่ได้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้เป็นยุคที่เวทีนางงามไม่ต่างจากการดูโชว์ และกลายเป็นธุรกิจบันเทิงไปแล้ว