ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน" ราชบัณฑิต-นักรัฐศาสตร์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งด้วยวัย 75 ปี

สังคม
21 พ.ย. 59
06:42
1,787
Logo Thai PBS
"ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน" ราชบัณฑิต-นักรัฐศาสตร์ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งด้วยวัย 75 ปี
ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิตและนักวิชาการรัฐศาสตร์ อดีตคณะบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสียชีวิตอย่างสงบด้วยวัย 75 ปี

เมื่อเวลา 23.30 น.วันที่ 20 พ.ย.2559 ศาสตราจารย์ ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิตและนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เสียชีวิตอย่างสงบที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ด้วยโรคมะเร็ง ภายหลังเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ศ.ดร.ลิขิต เป็นราชบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2546 เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาวิชาการเมืองการปกครองไทย เป็นอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังเคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อ พ.ศ. 2540 รวมทั้งเป็นปรึกษารัฐมนตรีและที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในหลายสมัย

นอกจากนี้ยังได้รับการยกย่องให้เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สภาวิจัยแห่งชาติ พ.ศ.2531

ศ.ดร.ลิขิตได้รับรางวัล "ปากกาขนนกทองคำ" ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับหนังสือที่มียอดจำหน่ายสูงสุด 15 สาขาวิชา โดยหนังสือ เรื่อง วิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย ของ ศ.ดร.ลิขิต ได้รับรางวัลในสาขารัฐศาสตร์เมื่อเดือนสิงหาคม 2547

ศ.ดร.ลิขิต เขียนตำราทางรัฐศาสตร์ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยหลายเล่มซึ่งนับเป็นคุณูปการยิ่งของวงการรัฐศาสตร์ไทย อาทิ พัฒนาการการเมืองไทย (ตีพิมพ์ปี 2519) ขอบข่ายและวิธีการศึกษารัฐศาสตร์, ฝ่ากระแสโลกาภิวัตน์ และวิวัฒนาการการเมืองการปกครองไทย ซึ่งจัดพิมพ์มาแล้ว 10 ครั้ง

พิธีรดน้ำศพจะมีขึ้นในวันนี้ (21 พ.ย.) เวลา 17.00 น.ที่วัดธาตุทอง เขตวัฒนา กรุงเทพฯ

ฟัง "ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน" พูดถึงรัฐธรรมนูญไทย

วันที่ 24 มิ.ย.2558 รายการเสียงประชาชนเปลี่ยนประเทศไทย เสนอบทสัมภาษณ์ ศ.ดร.ลิขิต ที่ให้ความเห็นต่อประเด็นอนาคตรัฐธรรมนูญไทย โดย ศ.ดร.ลิขิต ได้เล่าถึงที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 99 คน ที่มาจากการคัดเลือกในแต่ละจังหวัดและนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้พูดถึงกรอบใหญ่ๆ 4 กรอบ คือ สิทธิเสรีภาพของประชาชน การเข้าสู่ตำแหน่งอำนาจ การควบคุมการใช้อำนาจ และการเมืองภาคประชาชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง