เรือโทสมนึก เสียงก้อง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงว่าเมื่อวานนี้ (22 พ.ย.) คณะทำงานพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ได้พิจารณาพยานหลักฐานจากการสอบสวน ผลการสอบสวนเพิ่มเติมทั้งหมด และหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของฝ่ายผู้ต้องหาในคดีที่เกี่ยวพันกับการทุจริตในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่นแล้ว มีคำสั่งฟ้องและเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหา 5 คน ได้แก่
ผู้ต้องหาที่ 1 นายศุภชัย ศรีศุภอักษร (ถูกจำคุกอยู่ในคดีอื่น)
ผู้ต้องหาที่ 2 พระเทพญาณมหามุนี หรือ "พระธัมมชโย" เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
ผู้ต้องหาที่ 3 น.ส.ศรัณยา มานหมัด
ผู้ต้องหาที่ 4 นางทองพิน กันล้อม
ผู้ต้องหาที่ 5 น.ส.ศศิธร โชคประสิทธิ์
พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาที่ 1,3 และ 4 คือ นายศุภชัย, น.ส.ศรัณยา และ น.ส.ทองพิน ในความผิดฐานสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5, 9, 60 ซึ่งนายศุภชัยถูกจำคุกในคดีอื่นอยู่ ส่วน น.ส.ศรัณยาและ น.ส.ทองพิน นั้นพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งตัวผู้ต้องหาให้พนักงานอัยการแล้ว
ทั้งนี้ พนักงานอัยการได้นัดผู้ต้องหาที่ 3 และ 4 มารายงานตัวเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลอาญาในวันที่ 30 พ.ย.2559
ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 และ 5 คือ พระธัมมชโย และ น.ส.ศศิธร นั้น พนักงานอัยการมีความเห็นควรสั่งฟ้องในความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5, 9, 60 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357, 83
นอกจากนี้พนักงานอัยการยังมีมติให้แจ้งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจัดการให้ได้ตัวพระธัมมชโยและ น.ส.ศศิธร มาส่งให้พนักงานอัยการภายในอายุความ 15 ปี นับแต่วันกระทำผิด เพื่อดำเนินการต่อไป
ก่อนหน้านี้พนักงานสอบสวนดีเอสไอได้ยื่นขอศาลอนุมัติหมายจับพระธัมมชโย และมีการนำกำลังเข้าไปที่วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี แต่ไม่สามารถเข้าไปด้านในได้เนื่องจากมีกลุ่มญาติโยมผู้ศรัทธาพระธัมมชโยชุมนุมอยู่ จึงนำสำนวนคดียื่นต่ออัยการ โดยที่ไม่มีการนำผู้ต้องหามาส่งตัว
ทั้งนี้ พระธัมมชโยถูกออกหมายจับ 3 ครั้ง คือ คดีที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน, คดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ กรณีจัดสร้างสวนป่าหิมวันต์ สาขาธรรมกาย อ.ภูเรือ จ.เลย และคดีการบุกรุกแผ้วถางป่า เพื่อก่อสร้างศูนย์ปฎิบัติธรรม เวิลด์พีซวัลเลย์ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
รองอธิบดีอัยการแจง "ความเห็นควรสั่งฟ้อง" พระธัมมชโย
นายชาติพงษ์ จีระพันธุ์ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานคดีเกี่ยวกับการทุจริตในสหกรณ์ เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จำกัด อธิบายเพิ่มเติมว่า ในส่วนของพระธัมมชโย และ น.ส.ศศิธร นั้น พนักงานอัยการ ยังไม่ได้มีคำสั่งฟ้อง แต่เป็นเพียง ความเห็นควรสั่งฟ้อง เนื่องจากตามประมวลกฎหมายหมายวิธีพิจารณาความอาญาระบุว่า หากยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาสอบสวน พนักงานอัยการจะทำได้เพียงให้ความเห็นว่า ควรหรือไม่ควรสั่งฟ้อง และเมื่อได้ตัวผู้ต้องหามาและสอบสวนเพิ่มเติมแล้ว พนักงานอัยการจะยืนยันตามความเห็นเดิมหรือเปลี่ยนแปลงความเห็นก็ได้
"ขณะนี้พนักงานอัยการยังไม่ได้ตัวพระเทพญาณมหามุนีและ น.ส.ศศิธร มาทำการสอบสวน เพราะฉะนั้นพนักงานอัยการจึงมีแค่ 'ความเห็นควรสั่งฟ้อง' ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หมายความว่าในชั้นสอบสวนขณะนี้ เมื่อฟังตามพยานหลักฐานของผู้กล่าวหาพอฟังได้ว่าพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องได้ เราจึงมีความเห็นควรสั่งฟ้อง จากนั้นจึงสั่งให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษไปจัดการให้ได้ตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 คน มาให้ได้ภายในอายุความ 15 ปี นับตั้งแต่ว่าที่กระทำความผิด ความผิดคดีนี้เริ่มเมื่อเดือนมกราคม 2552 ถ้าไม่ได้ตัวผู้ต้องหา เมื่อได้ตัวมาแล้วก็ต้องทำการสอบสวน เพื่อให้เขาแก้ข้อกล่าวหา จากนั้นพนักงานอัยการจะมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่าจะยืนยันตามความเห็นควรสั่งฟ้องหรือไม่ หรือจะเปลี่ยนแปลง ถ้ามีพยานหลักฐานใหม่หรือมีข้อเท็จจริงใหม่ อาจจะสั่งไม่ฟ้องก็ได้ พนักงานอัยการสามารถมีดุลยพินิจอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญา" นายชาติพงษ์กล่าว
นายชาติพงษ์ยังชี้แจงข้อวิจารณ์ถึงการทำงานของพนักงานอัยการในคดีนี้ที่บางฝ่ายมองว่าล่าช้าและสอบสวนเพิ่มเติมหลายครั้งว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่มีผลเสียหายอย่างกว้างขวางและมีผู้เสียหายจำนวนมาก อีกทั้งยังเกี่ยวกับเส้นทางการเงินที่ต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบในการสอบสวน ทั้งนี้เพื่อให้สามารถติดตามเงินมาคืนให้ผู้เสียหายได้ จึงต้องทำการสอบสวนอย่างละเอียด
"คดีนี้มีผลกระทบต่อระบบสหกรณ์จำนวนมาก มีผู้เสียหายจำนวนมากนับพันคน ค่าเสียหายเกือบ 2 หมื่นล้าน เพราะฉะนั้นนอกจากเราจะมุ่งติดตามผู้กระทำผิดมาลงโทษแล้ว เรายังมุ่งติดตามเงินมาคืนให้ผู้เสียหายด้วย เราจึงต้องรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเส้นทางการเงินให้ได้มากที่สุด ครบถ้วน ชัดเจนที่สุด เพื่อจะขอให้ศาลสั่งให้ผู้กระทำความผิดคืนทรัพย์สินเหล่านี้คืนให้ผู้เสียหาย จึงต้องสอบละเอียด ถ้าลำพังแค่จะสั่งฟ้องผู้ต้องหานั้นไม่ยากเลย พอมีมูลเราก็ฟ้อง แต่สิ่งที่เรามุ่งหวังก็คือการติดตามดูแลผู้เสียหายในคดี ทำให้เราต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ ซึ่งเราทำทั้งคดีแพ่งและอาญาเพื่อให้มีการชดใช้ทรัพย์สินแก่ผู้เสียหาย ซึ่งถ้าศาลสั่งให้ชดใช้ ผู้เสียหายก็สามารถบังคับคดีเพื่อเอาเงินคืนมาได้ ที่เราทำละเอียด รอบคอบและล่าช้า อาจจะไม่ทันใจ แต่จุดมุ่งหมายเราคือ มุ่งคุ้มครองผู้เสียหาย และติดตามทรัพย์สินมาคืนให้ผู้เสียหาย ซึ่งต้องมีการสอบเส้นทางการเงิน ที่ต้องอาศัยการตรวจสอบที่ละเอียดรอบคอบ และมีตัวเลขเยอะ จะผิดไม่ได้ จึงทำให้งานล่าช้า"