ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 พ.ย.2559) ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวบ้านรวม 151 คน ชนะคดีเขื่อนแม่วงก์ โดยสั่งให้กรมชลประทาน และผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติ และดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 67 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 หรือโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรืออีเอชไอเอ ประกอบมาตรา 4 แห่ง รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ให้ครบถ้วน
ด้านนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมชลประทาน ได้มีการจัดทำรายงานอีเอชไอเอแล้ว และร่างรายงาน ได้จัดส่งไปยังคณะกรรมการผู้ชำนาญการรพิจารณาโครงการ หรือคชก.ด้านแหล่งน้ำ ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. 2-3 ครั้ง รวมทั้งต้องมีการทำข้อมูลชี้แจงเพิ่มเติมกับคณะกรรมการมาเรื่อยๆใน 2-3 ประเด็น
รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ครั้งสุดท้ายได้นำเสนอต่อ สผ.ในประเด็นเรื่องของป่าไม้ริมน้ำ และเรื่องของสัตว์ป่า ทางเลือกในการพัฒนาแหล่งน้ำ รวมทั้งเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่เป็นประเด็นที่ต้องทำรายงานเพิ่มเติม
เมื่อถามว่าการที่ศาลปกครองพิพากษาให้กรมชลประทานต้องทำตามกฎหมายมาตรา 67วรรคสอง เท่ากับส่งสัญญาณต้องทบทวนโครงการนี้หรือไม่ นายสมเกียรติ ยอมรับว่าขณะนี้โครง การล่าช้าอยู่แล้ว เพราะต้องทำตามเงื่อนไขของกฎหมายให้ครบถ้วน และการพิจารณาโครง การยังต้องทำทั้งเขื่อนขนาดกลาง และทางเลือกให้เหมาะสม แต่มั่นใจว่า กรมชลประทานได้ตามเงื่อนไขทั้งหมด
ส่วนนายศรีสุวรรณ บอกว่า หลังจากนี้ต้องดูว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะอุทธรณ์ต่อหรือไม่ ซึ่งเขามีสิทธิ์นี้ภายใน30 วัน สำหรับคำพิพากษา ครั้งนี้ศาลระบุว่า เนื่องจากการพิจารณารายงานอีเอชไอเอโครงการเขื่อนแม่วงก์ ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ คชก.ซึ่งไม่อาจคาดการณ์ว่ารายงานจะผ่านความเห็นชอบของคชก.และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีขั้นตอนที่ต้องส่งรายงานให้องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯพิจารณาให้ความเห็นประกอบ ตามขั้นตอน ดังนั้นจึงถือว่าผู้ถูกฟ้องคดี ยังดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสองไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
โดยการฟ้องร้องครั้งนี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ร่วมกับชาวบ้านฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี อธิบดีกรมชลประทาน และรมว.เกษตรและสหกรณ์ งกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550