วันนี้(7 ธ.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคมต่อเนื่องจนถึงเช้าของวันที่ 6 ธันวาคม ในพื้นที่ อ.บางสะพาน และอ.บางสะพานน้อย จ.ประ จวบคีรีขันธ์ ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมย่านการค้าและโรงพยาบาลบางสะพาน เจ้าหน้าที่ต้องเร่งขนย้ายผู้ป่วย และขนอุปกรณ์ทางการแพทย์-ผู้ป่วยหนีน้ำ กั้นกระสอบทราย หลังฝนตกหนักจนน้ำท่วม
โดยเจ้าหน้าที่ เร่งย้ายผู้ป่วย 123 คน จากอาคารต่างๆ ของโรงพยาบาลบางสะพาน ขึ้นไปยังอาคาร 6 ชั้น หลังกระแสน้ำจากเทือกเขาตะนาวศรี ไหลเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจของ อ.บาง สะพาน ตั้งแต่เมื่อช่วงสายวานนี้ (6ธ.ค.2559) ส่วนผู้ป่วยอาการหนัก 3 คนถูกย้ายไปอยู่ในโรงพยาบาลในตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ นอกจากนี้โรงพยาบาลยังเร่งเสริมกระสอบทราย บริ เวณใต้อาคาร 6 ชั้น ป้องกันน้ำไหลเข้าสู่ระบบควบคุมไฟฟ้าของอาคาร
นายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า หากไม่มีฝนตกซ้ำลงมาอีก ระดับน้ำจะค่อยๆลดลงภายในวันนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือกรมอุตุนิยมวิทยา ยังคงประกาศเตือนว่าจะมีฝนตกลงมาอีก จึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ส่วนต่างๆเฝ้าระวัง และเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนความเสียหายยังไม่สามารถประเมินได้ในเบื้องต้น ซึ่งต้องให้เจ้าหน้าที่ออกสำรวจหลังจากนี้ต่อไป ขณะที่ในพื้นที่อ.บางสะพานน้อย ก็มีน้ำท่วมแต่ไม่หนักเหมือน อ.บางสะพาน
สำหรับน้ำท่วมครั้งนี้ เกิดจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคมต่อเนื่องจนถึงเช้าของวันที่ 6 ธันวาคม ส่งผลทำให้เกิดน้ำป่าจากเทือกเขาตะนาวศรี ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำบ้านคลองลอย อ่างเก็บน้ำบ้านวังน้ำเขียว น้ำได้ล้นสปริงเวย์ไหลสมทบกับน้ำป่าลงสู่คลองบางสะพาน จนน้ำเอ่อล้นไหลเข้าท่วมในพื้นที่ ต.ร่อนทอง ต.องมงคล ต.พงษ์ประศาสตร์ และต.กำเนิดนพคุณ อ.บางสะพานอย่างรวดเร็ว
มท.1 ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้
ด้านพลเอกอนุพงศ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่นครศรีธรรมราช พร้อมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมใน 5 จังหวัดภาคใต้ คือ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ตรังพัทลุง และสงขลา โดยกำชับ ผู้ว่าราชการจังหวัด ควบคุมสาเหตุการจมน้ำเสียชีวิตของประชาชน โดยจะต้องไม่มีผู้เสียชีวิต จากการประมาทเลินเล่อ ในช่วงอุทกภัยอย่างเด็ดขาด พร้อมจัดหาเครื่องยังชีพ แจกจ่ายให้กับประชาชนที่เดือดร้อนอย่างเร่งด่วน ให้เสร็จภายใน1 วัน
ขณะที่ นายจำเริญ ทิพยพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เสนอแผนแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบ ที่ต้องใช้งบประมาณ 9,000 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมพื้นที่ภัยพิบัติมีงบประมาณทดรองจ่ายจังหวัดละ 30 ล้านบาท โดยสามารถกระจายไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดหาเครื่องยังชีพสำหรับผู้ประสบภัย