วันที่ 22 พ.ย.2559 เป็นวันเริ่มเริ่มปิดการจราจรบนสะพานข้ามแยกรัชโยธิน และให้รถวิ่งผ่านแยกแทนแม้จะขยายเลนเพิ่มแล้ว แต่จุดที่เป็นคอขวด 2 ฝั่ง บริเวณเชิงสะพาน ยังมีรถสะสมมาก เช่น ถ้ามาจากถนนรัชดาภิเษก จากหน้าศาลอาญา ถนน 4 เลน จะถูกบีบเหลือ 2 เลน และจะมีเลนพิเศษมาช่วยระบายบริเวณใกล้ๆ แยก เช่นเดียวกับรถที่มาจากวิภาวดีรังสิตที่จะมีคอขวดบริเวณเชิงสะพานเช่นกัน
เมื่อ 30 พ.ย. พบว่ารถติดสะสมมากที่สุด หากนับจากหัวแถวที่แยกรัชโยธิน บนถนนพหลโยธิน ขาเข้า รถติดถึง 8.9 กิโลเมตร ท้ายแถวสะสมถึงสะพานใหม่ขาออก 1.7 กิโลเมตร ท้ายแถวเซ็นทรัล ลาดพร้าว บนถนนรัชดาภิเษก ขาเข้า ติดยาวกว่า 6.7 กิโลเมตร ท้ายแถวอยู่ที่ สะพานพระราม 7 ขาออก ติดยาว 5.8 กิโลเมตร ท้ายแถวอยู่ที่อุโมงค์ห้วยขวาง
ทีมข่าวไทยพีบีเอสตรวจสอบผลกระทบจากการปิดสะพานข้ามแยกรัชโยธิน โดยทดลองใช้เส้นทางจากแยกเกษตรไปแยกรัชโยธินในช่วงเวลา 06.00-08.00 น. เพื่อตรวจสอบว่าจะใช้เวลาในการเดินทางเพิ่มขึ้นแค่ไหน จากแยกเกษตรไปแยกรัชโยธิน ระยะทาง 1.3 กิโลเมตร ต้องใช้เวลาเดินทาง 2-3 ชั่วโมง ขณะที่พนักงานเอกชนบางคนตัดสินใจเดินเท้าแทน ด้วยระยะทาง 5 กิโลเมตร เพื่อไปที่แยกรัชโยธิน
ในวันพรุ่งนี้ (8 ธ.ค.) บริเวณแยกเกษตรจะมีการปรับเปลี่ยนช่องจราจร เพื่อเจาะเสาเข็มทำสะพานข้ามแยกเกษตรใหม่ โดยผู้รับเหมาจะปิดช่องทางจราจรบนถนนพหลโยธิน ฝั่งขาเข้า เพิ่ม 1 ช่องชิดเกาะกลางถนน ทำให้ช่องจราจรบนถนนทั้งฝั่งขาเข้า-ออก จะเหลือฝั่งละ 2 ช่องทาง ในฝั่งขาเข้า จะแยก 2 เลน ออกจากกัน
สำหรับรถที่มาจากวงเวียนหลักสี่ เมื่อมาถึงแถวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะมีช่องทางพิเศษให้รถวิ่งสวนในฝั่งขาออก 1 ช่องทาง เริ่มตั้งแต่เวลา 22.00 น. ของคืนวันที่ 8 ธ.ค.2559 จากนั้นจะเป็นแบบนี้ 24 ชั่วโมง ไปจนถึง 24 ธ.ค.นี้ และหลังจากวันที่ 24 ธ.ค. ตั้งแต่เวลา 22.00 น. จะปิดช่องจราจรบนถนนพหลโยธินฝั่งขาเข้า-ออก ชิดเกาะกลาง 1 ช่องทาง ทำให้มีช่องจราจรเหลือฝั่งละ 2 ช่อง ไปจนถึงวันที่ 8 ก.พ.2562