ความคืบหน้าหลังจากกรมอุทยานฯ ได้ยึดและเคลื่อนย้ายเสือโคร่งของกลางจำนวน 147 ตัวของ วัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จ.กาญจนบุรี หรือวัดเสือ มาอยู่ในความดูแลที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้างจ.ราชบุรี ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
วันนี้(10 ธ.ค.2559) นายอดิศร นุชดำรงค์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ขณะเดียวกันในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ยังได้มีการตรวจสอบพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ ของเสือโคร่งทุกตัว เพื่อหาความสัมพันธุ์พ่อแม่ลูกของเสือโคร่งทั้งหมด เนื่องจากเป็นเสือที่ผ่านการผสมพันธุ์กันมาจากพ่อแม่พันธุ์ที่เดิมมีเพียง 7 ตัว จนกระทั่งมีการเพาะขยายพันธุ์จำนวนจนมีมากถึง 147 ตัว
นายอดิศร บอกว่า ผลการตรวจดีเอ็นเอ พบว่าเสือโคร่งร้อยละ 80-90 เป็นสายพันธ์มลายู และไซบีเรีย ส่วนที่เหลือเป็นสายพันธุ์อินโดไชนีส ซึ่งยังไม่สามารถหาคำตอบได้เลยว่าสายพันธุ์เสือโคร่ง จึงมีลักษณะแบบนี้ แม้ว่าเบื้องต้นจะบอกได้ว่าเสือโคร่ง 3 ตัวที่เหลืออยู่และเป็นเสือชุดแรกที่ทางวัดเสือนำมาเลี้ยง พบว่าดีเอ็นเอเป็นสายพันธุ์มลายูและไซบีเรียก็ตาม ขณะที่ หากทางวัดจะอ้างว่าเป็นเสือโคร่งพันธุ์อินโดไชนีส ที่ปะปนอยู่ได้จากพ่อแม่ที่ตายไป 4 ตัวนั้น แต่กรมอุทยานฯ จะใช้หลักฐานจากวันเดือนปีเกิดของเสือทุกตัวที่เกิดมาและทางวัดมีการทำรายชื่อไว้
ทั้งนี้ ซึ่งยอมรับว่าการจำแนกดีเอ็นเอของเสือแต่ละตัวเพื่อหาที่มาค่อนข้างยุ่งยาก เพราะมีการไขว้กันมาก แต่ อย่างไรก็ตาม ทางกรมอุทยานฯก็จะเร่งสรุปเป็นชาร์ทให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ เพื่อให้ง่ายต่อส่งข้อมูลผลการตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์นี้ ให้กับพนักงานสอบสวนนำไปใช้ในการส่งฟ้องและดำเนินคดีกับทางวัดต่อไป โดยเชื่อว่าข้อมูลชุดนี้น่าจะเป็นคำตอบได้ว่าทางวัดแห่งนี้ ต้องการเพาะขยายพันธุ์เสือเกินความจำเป็น และยังมีการนำเสือโคร่งพ่อแม่พันธุ์จากที่อื่นมาปะปนด้วย