วันนี้ (28 ธ.ค.2559) น.ส.ชลดา บุญเกษม ตัวแทนคณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน น.ส.บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบเลขาธิการ กสทช. จากกรณีไม่บังคับให้ผู้รับใบอนุญาต 2 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย ตามที่ได้มีมติ กทค. เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคมากกว่า 18,032 ล้านบาท ใน 7 เดือน นับจากที่ กทค. มีมติอาจจะเข้าข่ายความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา เข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ส่วนคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เสียงข้างมาก นอกจากจะไม่กำกับสำนักงานเร่งรัดผู้รับใบอนุญาตให้คิดค่าบริการตามการใช้งานจริงตามมติของตนเอง ยังมีการปฏิบัติที่ล่าช้าเกินควร ทั้งที่ได้รับข้อเสนอจากสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นเวลาสองปี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ แต่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งไม่คุ้มครองผู้ร้องเรียนในการคิดค่าบริการตามจริงจากกรณีของนายวัชรภัทร์ ไวทยกุล โดยมีมติให้บริษัทสามารถเก็บค่าบริการเพิ่ม และมีความพยายามทบทวนมติกทค.ในเรื่องนี้ ซึ่งอาจจะเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ต่อบริษัท โดยใช้แง่มุมกฎหมายว่าเป็นการพิจารณามติใหม่ ไม่ใช่การทบทวนมติของ กทค.
น.ส.ชลดา บุญเกษม ให้ข้อมูลว่า บริษัททั้ง 2 เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ในประเทศไทย จากข้อมูลของสำนักงาน กสทช. ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2557 ผู้ให้บริการทั้งสองรายมีผู้ใช้บริการทั้งประเทศรวมแล้วประมาณ 64.4 ล้านเลขหมาย ดังนั้น การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของผู้ถูกกล่าวหา จึงทำให้ผู้บริโภคเสียหายจากการถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินความเป็นจริง มีมูลค่ากว่า 2,576 ล้านบาทต่อเดือน เป็นความเสียหายของผู้บริโภคจากสองบริษัทใน 7 เดือนที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 18,032 ล้านบาท หรือดังที่มีผู้ร้องเรียนบางรายต้องจ่ายเงินเพิ่มถึง 197.50 บาทต่อเดือน ทั้งๆที่ใช้แพ็คเกจราคาสูง 899 บาท ในแต่ละเดือน
เครือข่ายผู้บริโภคเห็นว่า กรณีนี้ข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยไม่ดำเนินการบังคับให้ผู้รับใบอนุญาตปฏิบัติตามกฎหมายของ กสทช.ความผิดดังกล่าวอยู่ในอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความผิดทั้งหมดและลงโทษตามกฎหมายต่อไป