วันนี้ (7 ม.ค.2560) รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติ คาดการณ์ว่า เดือนมกราคมนี้ ภาคใต้ของไทยยังมีโอกาสมีฝนตกหนัก มากจากอิทธิพลปรากฏการณ์ลานิญา แต่ฝนจะเริ่มลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม
ดังนั้นตลอดทั้งเดือนมกราคม ภาคใต้ยังต้องระวังอันตรายจากฝนตกหนัก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาเพิ่มเติม
“สัปดาห์นี้ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มมีฝนเบาลงบาง แต่ส่วนที่ติดกับมาเลเซียยังหนัก สัปดาห์ที่ 2 หลังจากวันที่ 10 ม.ค.เป็นต้นไปจะเริ่มมีฝนเบาลง แต่มีแนวโน้มว่าหลังกลางเดือน ม.ค.อาจจะกลับมาหนักอีกครั้ง และอาจจะเป็นการท่วมรอบที่ 3 ก็เป็นได้ เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนมาก เพราะฉะนั้นต้องเร่งระบายน้ำมี เวลา 5 วัน แล้ววันที่ 16 ม.ค.เตรียมรับสถานการณ์” รศ.เสรี กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในรอบ24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ยังไม่มีพื้นที่ใดมีปริมาณฝนสะสมเกิน 100 มิลลิเมตร ซึ่งส่งผลดีที่จะทำให้ภาคใต้ไม่มีความเสี่ยงเรื่องดินโคลนถล่ม
ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงดินถล่มของกรมทรัพยากรธรณี พบว่า เกือบทุกจังหวัดของภาคใต้จะมีพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม พื้นที่ที่มีความเสี่ยง คือ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล ยะลา นราธิวาส พื้นที่เหล่านี้ถ้ามีฝนตกสะสมเกิน 100 มิลลิเมตร มีความเสี่ยงที่จะเกิดดินถล่มได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีพื้นที่ใดมีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 100 เมตร
ขณะที่สภาพอากาศของ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช วันที่ 7-9 ม.ค.60 มีฝนร้อยละ60-70 ของพื้นที่ หลายๆ อำเภอจึงยังมีโอกาสมีฝนตก แต่ฝนจะลดลงวันที่ 10 ม.ค.
ทั้งนี้ สาหตุที่ทำให้ภาคใต้มีฝนลดลง คือ หย่อมความกดอากาศต่ำตัวการที่ทำให้เกิดฝนที่ตอนนี้อยู่แถวทะเลอันดามัน เคลื่อนไกลออกไปจากภาคใต้ของไทย