หนึ่งในโรงเรียนที่เข้าโครงการไอซียู ของกระทรวงศึกษาธิการ คือโรงเรียนอนุบาลนนทบุรี ซึ่งกำลังถูกขอเวนคืนที่ดินและอาคารเรียนจากทางจังหวัด เพื่อปรับแต่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและจุดเยี่ยมชมอันเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนนทบุรี หรือแลนด์มาร์ค ทางออกของปัญหานี้
ตามแผนผังของพื้นสีเหลือง โซนซีและดี ของโรงเรียนอนุบาลนนทบุรี เป็นส่วนหนึ่งที่จังหวัดนนทบุรี จะขอเวนคืนเพื่อทำเป็นแลนด์มาร์คจังหวัด ซึ่งหมายถึงจุดแสงสัญลักษณ์ของจังหวัดนนทบุรี และประเด็นที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต้องเปิดหารือกับตัวแทนฝ่ายที่เดือดร้อน กับภาครัฐในพื้นที่
หลังจากรับเรื่องร้องเรียนนี้ เข้าโครงการโรงเรียนไอซียู หรือโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาเป็นพิเศษและตลอดการถกเถียง-แลกเปลี่ยนความเห็น ราว 1 ชั่วโมงเต็มนั้น ฝ่ายหนึ่งขอพื้นที่ก่อสร้างทันที ส่วนอีกฝ่าย ขอคืนพื้นที่ เพื่อการศึกษาของเด็กๆ ผลสรุปที่ดีที่สุด ที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับ คือระหว่างปรับปรุงพื้นที่ก่อนก่อสร้างขอให้กันห้องสมุดของจังหวัด เป็นอาคารเรียนไปก่อน
โรงเรียนอนุบาลนนทบุรี เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนทั้งหมด 1,617 คน มีครูและบุคลากรอีก 136 คน ซึ่งอาคารโรงเรียนติดอยู่กับอาคารศาลากลางจังหวัดนนทบุรีหลังเก่า ในขณะที่จังหวัด มีนโยบายปรับแต่งพื้นที่เป็นแลนด์มาร์ค..นนทบุรี โดยจะใช้ระยะเวลาปรับปรุงนาน 4 ปี โดยจะเริ่มดำเนินการใน 2 ปีนี้
สำหรับโครงการโรงเรียนไอซียูคือโครงการที่ให้แต่ละโรงเรียนทั่วประเทศ สำรวจปัญหา ก่อนร้องขอความช่วยเหลือ หรือการสนับสนุน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการศึกษา ซึ่งกรณีขออาคารเรียนคืน ของโรงรียนอนุบาลนนทบุรี คือหนึ่งเดียวในจังหวัดที่เข้าโครงการขอความช่วยเหลือนี้
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ บอกว่า จากการสำรวจของกระทรวงศึกษาธิการก่อนหน้านี้พบว่า โรงเรียนที่มีภาวะไอซียู อยู่ประมาณ 3,000 แห่งทั่วประเทศ
โดยภาวะไอซียู ที่มีคำร้องเข้าโครงการ คือปัญหาด้านการศึกษาการขาดแคลนครู ผลสัมฤทธิทางการเรียนต่ำขาดเทคโนโลยีทางการศึกษา เด็กและเยาวชนขาดโอกาสการศึกษา รวมถึงปัญหาด้านยาเสพติดที่ส่งผลต่อโรงเรียน แต่ปัญหาทั้งหมดที่ว่านี้ กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งเป้าหมายที่จะแก้ไข-เยียวยา เพื่อให้การช่วยเหลือ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนี้