นายสากล ฐินะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุประเทศไทยผลิตถุงพลาสติก 5,300 ตันต่อวัน ในช่วงหลายปีมีความพยายามรณรงค์ผ่านห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และผู้บริโภคให้ช่วยลดการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งแม้จะได้ผล แต่ยังไม่เต็ม 100%
จนกระทั่งในปี 2559 ขอความร่วมมือในการงดให้ถุงพลาสติกกับลูกค้า โดยได้ดำเนินการพร้อมกันทุกวันที่ 15 และวันที่ 30 ของทุกเดือน จากนั้นได้รณรงค์ขอความร่วมมือในการงดให้ถุงพลาสติกกับลูกค้า "ทุกวันพุธ” และได้ยกระดับความเข้มข้นในการดำเนินการงดให้บริการถุงพลาสติก “ทุกวัน” ทำให้เริ่มเห็นผลชัดเจนยิ่งขึ้น
ปี 2557 ลดได้ 16 ล้านใบต่อปี
ปี 2558 ลดได้ 36 ล้านใบต่อปี
ปี 2559 ลดได้ 166 ล้านใบต่อปี
ขณะนี้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เตรียมจัดทำประชาพิจารณ์ เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมในการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกในไทย โดยอาจนำร่องใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฏร์ธานี กระบี่ และภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยว เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชน ก่อนการประกาศใช้กฎหมายต่อไป
รูปแบบ “ภาษีถุงพลาสติก”ในต่างประเทศ
ไอซ์แลนด์ เก็บภาษีถุงพลาสติก 0.22 ยูโร หรือ 9 บาทต่อใบ
ไต้หวัน เก็บภาษีถุงพลาสติก (ไม่กำหนดอัตราภาษีที่ตายตัว) ช่วงราคา 1-3 ดอลลาร์ไต้หวัน หรือ 1-3.5 บาทต่อใบ
แอฟริกาใต้ เก็บภาษีถุงพลาสติก 0.04 แรนด์ หรือ 20 สตางค์ต่อใบ
บังคลาเทศ ห้ามใช้ถุงพลาสติก แต่ใช้ถุงที่ทำจากปอกระเจาแทน
ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ห้ามใช้ถุงพลาสติกในซุปเปอร์มาเก็ต ร้านขายอาหารแฟรนไซส์ ให้นำกระเป๋ามาใส่สินค้า
จีน ห้ามไม่ให้ผลิต จัดจำหน่ายถุงพลาสติกที่ผลิตจากโพลีเอทธิลีนความแน่นสูง โดยผู้ค้าปลีกต้องเก็บค่าถุงพลาสติกจากผู้บริโภค
อิตาลี ห้ามไม่ให้ผู้ค้าปลีกแจกถุงที่ทำจากโพลีเอทธิลีนแก่ลูกค้า ให้ใช้ถุงย่อยสลายได้ ถุงกระดาษหรือถุงผ้า
อินเดีย ห้ามใช้ถุงพลาสติก
ออสเตรเลีย ตามแต่สมัครใจ ภาครัฐร่วมมือกับผู้ค้าปลีกในการลดใช้ ส่วนระดับเมือง นำมาตรการทางกำหมายมาบังคับห้ามใช้ถุงพลาสติก
อังกฤษ ตามแต่สมัครใจ ภาครัฐและผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่ร่วมมือกันลดใช้ถุงพลาสติก
ไทย ยังอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบภาษีถุงพลาสติก ส่วนราคายังไม่กำหนด