ฐานข้อมูลออนไลน์ "Women Makes the News - Thailand" ซึ่งเข้าถึงได้ที่เว็บไซต์ www.wmnthailand.org จะเปิดให้เข้าใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 มี.ค.2560 ซึ่งตรงกับวันสตรีสากล โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการทำงานของสื่อมวลชนเพื่อให้เข้าถึงแหล่งข่าวที่เป็นผู้หญิงได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เสียงของผู้หญิงปรากฏในสื่อมากขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญสตรีที่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลออนไลน์นี้ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญใน 3 สาขา ซึ่งเป็น 3 สาขาที่ยูเนสโกมองว่ามักจะขาดเสียงของผู้หญิงไป ได้แก่ สาขาสื่อ เทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารและนวัตกรรม; เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อม; วัฒนธรรม วิถีชีวิตและประวัติศาสตร์อาเซียน
ขณะนี้ในฐานข้อมูลออนไลน์มีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญสตรีในสาขาต่างๆ อยู่กว่า 250 คน ซึ่งในเว็บไซต์ได้เปิดให้เสนอชื่อผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมได้ด้วย
ยูเนสโกระบุว่า ประเทศไทยมีนักวิทยาศาสตร์หญิงอยู่ประมาณ 53 เปอร์เซนต์ และมีผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงประมาณ 37 เปอร์เซนต์ แต่ผลการทำวิจัยพบว่าในจำนวนผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดที่สื่อมวลชนสัมภาษณ์ มีเพียง 24 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่เป็นผู้หญิง
"ภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่ปรากฏในสื่อมักจะเป็นผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ เป็นผู้ถูกกระทำ เป็นตัวแทนของครอบครัว หรือเครื่องมือทางเพศ ซึ่งเป็นการทำให้สังคมมองไม่เห็นผู้หญิงในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ" ชานแทล ไมแรส เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารและข้อมูล ยูเนสโก กรุงเทพฯ กล่าว
ยูเนสโกมองว่า การกีดกันทางเพศในข่าว เป็นการตอกย้ำถึงภาพลักษณ์และการจำกัดมุมมองของหญิงและชาย นอกจากนี้ การที่มีเสียงของผู้หญิงไม่เพียงพอในข่าวทำให้ข่าวนั้นไม่มีความหลากหลายของมุมมองและไม่สมดุล
ในงานเปิดตัวเว็บไซต์ฐานข้อมูลออนไลน์เมื่อวานนี้ (6 มี.ค.2560) ยังได้มีการเสวนาในหัวข้อ "การมีตัวตนของสตรีในสื่อไทย" โดยผู้ร่วมเสวนาเป็นผู้แทนสตรีจากองค์กรต่างๆ ซึ่งต่างมีความเห็นตรงกันว่าสื่อมวลชนควรนำเสนอความเห็น สัมภาษณ์และเสนอเรื่องราวของผู้หญิงที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ให้มากขึ้น
ศิริพร พัชรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) กล่าวว่าในธุรกิจด้านไอทีมีสัดส่วนของพนักงานที่เป็นผู้หญิงน้อยมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะจะทำให้ผู้หญิงถูกทิ้งอยู่ข้างหลังในยุคที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างรวดเร็ว
เธอยังแสดงความกังวลถึงมุมมองที่แพร่หลายในสังคมที่มักคิดว่าผู้หญิงเป็นคนที่ไม่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี ไม่ถนัดด้านไอที ซึ่งเธอบอกว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ปิดกั้นความก้าวหน้าของผู้หญิงในสายงานนี้
"สื่อมวลชนเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อความคิดของเด็กและเยาวชน ถ้าสื่อเสนอเรื่องราวหรือเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้แสดงความรู้ความสามารถมากขึ้น ก็จะสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนได้ว่าเขาก็สามารถประสบความสำเร็จได้" น.ส.ศิริพรกล่าว
ชเนตตี ทินนาม นักวิชาการประจำศูนย์จิตตปัญญา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทำงานวิจัยเกี่ยวกับผู้หญิงในสื่อมวลชน ให้ความเห็นว่าสาเหตุที่ผู้สื่อข่าวไม่นึกถึงแหล่งข่าวหรือผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้หญิงนั้น เป็นเพราะโครงสร้างสังคมไทยมีลักษณะเป็นสังคม "ชายเป็นใหญ่" มาเนิ่นนาน ทำให้คนส่วนใหญ่คิดและมีความเคยชินว่าคนที่เก่งและมีความสามารถ มีข้อมูลจะเป็นผู้ชาย
"นักข่าวควรจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า 'gender eye' คือนึกถึงความสมดุลของผู้หญิงและผู้ชายในข่าว เพราะความสมดุลและความหลากหลายของความเห็นเป็นคุณลักษณะพื้นฐานของข่าว แต่ความสมดุล หรือ balance นี้ไม่ใช่แค่ความสมดุลในเชิงเนื้อหา แต่นักข่าวต้องนึกถึงความสมดุลในเรื่องเพศที่ปรากฏในข่าวด้วย"
"ถ้าสื่อมวลชนเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิง รวมถึงเพศทางเลือกมากขึ้น จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน" อาจารย์ชเนตตีกล่าว