วันนี้ 29 มี.ค.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ระบุว่ามีการแก้ไขร่างกฎหมายปิโตรเลียมที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยเสนอให้มีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ และเปิดเผยรายชื่อนักวิชาการ ผู้บริหารหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจที่ร่วมคัดค้านด้วยนั้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า กฎหมาย พ.ร.บ.ปิโตรเลียม มีการเสนอมาตั้งแต่ปี 2557 ก่อนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะเรียกร้องในประเด็นต่างมากมาย ซึ่งรัฐบาลก็รับฟังเพราะถือว่าเป็นข้อเสนอจากกลุ่มต่างๆ
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า รัฐบาลต้องการผลักดันเฉพาะเรื่องของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลงทุนขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งมีหลายพื้นที่ที่ต้องตัดสินใจไม่ให้พลังงานขาดแคลน เพราะเอกชนต้องใช้เวลาในการวางแผน 5-6 ปี ซึ่งการตัดสินใจล่าช้า อาจทำให้พลังงานไม่เพียงพอและต่างประเทศไปลงทุนที่อื่น และไม่ต้องการให้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการอยู่เบื้องหลังของทหารตามที่มีข้อกล่าวหา
ด้านกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ที่นำโดย นางรสนา โตสิตระกูล นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้ออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ในวันที่ 30 มี.ค.นี้
กลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ระบุว่า เนื้อหายังแก้ไขให้ตอบโจทย์ตามที่ประชาชนเรียกร้อง ถึงแม้จะมีบรรษัทมาจัดการเชื้อเพลิงธรรมชาติจริง แต่ไม่ได้กำหนดให้จัดตั้งทันที เท่ากับว่าเป็นการเปิดช่องให้บริษัทรายเดิม
นอกจากนี้ คปพ.ยังตอบโต้การคัดค้าน บรรษัทพลังงานแห่งชาติของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร โดยตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงไม่ต้องการให้เชื้อเพลิงธรรมชาติมาตกอยู่ในมือของรัฐ เพราะการให้รัฐจัดการ จะทำให้รัฐและประชาชนได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ยืนยัน ว่าจะไม่รับตำแหน่งใดๆ ทั้งสิ้น ในบรรษัทพลังงานแห่งชาติ และในวันพรุ่งนี้ (30 มี.ค.) เวลา 08.00 น. จะเข้ายื่นหนังสือคัดค้านร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ต่อประธาน สนช. แต่หาก สนช. ยังผ่านร่างกฎหมาย และไม่ได้รับคำชี้แจงจากนายกรัฐมนตรี ก็จะปักหลักชุมนุมบริเวณหน้าสำนักงาน กพร.จนกว่าจะยกเลิกกฎหมาย