ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

8 เม.ย.นี้สดร.ชวนชม “ดาวพฤหัสบดี”ใกล้โลกที่สุด 667 ล้านกิโลเมตร

Logo Thai PBS
8 เม.ย.นี้สดร.ชวนชม “ดาวพฤหัสบดี”ใกล้โลกที่สุด 667 ล้านกิโลเมตร
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนชม "ดาวพฤหัสบดี"ใกล้โลกมากที่สุด วันที่ 8 เม.ย.นี้เริ่มตั้งแต่รุ่งเช้า เวลา 04.28 น.จนถึง 06.14 น.ของวันที่ 9 เม.ย.นี้ มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

วันนี้ (30 มี.ค.2560) ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. กล่าวว่า ช่วงต้นเดือนเมษายนดาวพฤหัสบดี จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และเข้ามาใกล้โลก ดาวพฤหัสบดีจะอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ในช่วงรุ่งเช้าของวันที่ 8 เม.ย.นี้ เวลาประมาณ 04.28 น. ที่ระยะทางประมาณ 667 ล้านกิโลเมตร หรือ 4.46 หน่วยดาราศาสตร์ ในช่วงเวลาดังกล่าวดาวพฤหัสบดีจะปรากฏสว่างมาก ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้สามารถสังเกตเห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน มีค่าความสว่างปรากฏประมาณ -2.5 (ความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6)หลังจากนี้ ยังสามารถชื่นชมความสวยงามของดาวพฤหัสบดีได้จนถึงเดือนกรกฎาคม

ดร.ศรัณย์ บอกว่า ในช่วงค่ำของวันที่ 8 เม.ย.นี้ ดาวพฤหัสบดี จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก บริเวณกลุ่มดาวหญิงสาว ตั้งแต่เวลาประมาณ 18.23 น. สังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย และจะตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก เวลาประมาณ 06.14 น. ของเช้าวันที่ 9 เม.ย.นี้

หากสังเกตด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก จะเห็นดวงจันทร์บริวารหลักทั้ง 4 ดวงของดาวพฤหัสบดี หรือที่เรียกว่าดวงจันทร์ของกาลิเลียน ได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนิมีด และคัลลิสโต รวมถึงแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดีได้อีกด้วย หากใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีหน้ากล้องตั้งแต่ 8 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะสามารถมองเห็นจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี ได้อย่างชัดเจน ในคืนวันที่8เมษายน จะสามารถสังเกตเห็นจุดแดงใหญ่ได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.00-21.00 น. และจะกลับมาให้เห็นอีกครั้งในช่วงรุ่งเช้าวันที่ 9 เม.ย.นี้ เวลาประมาณ 04.30 น. จนถึงดวงอาทิตย์ขึ้น ส่วนครั้งต่อไปจะเกิดวันที่ 9 พ.ค. 2561

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง