เจ้าหน้าที่เร่งรวบรวมพยานหลักฐานที่สำคัญในที่เกิดเหตุระเบิดบนเส้นทางระหว่างหมู่ 5 ต.สะบ้าย้อย และหมู่ 1 ต.ธารคีรี อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ซึ่งทำให้นายมะบีดี ลามะดอ และนายมะซากี เจะเละเสียชีวิต ขณะพยายามนำระเบิดชนิดขว้างโจมตีฐานปฎิบัติการของอาสาสมัครรักษาดินแดน ที่อยู่ห่างออกมาประมาณ 200 เมตร เพื่อนำไปใช้เป็นกุญแจในการแกะรอยหาตัวเครือข่ายผู้ก่อเหตุก่อกวนเกือบ 20 จุดเมื่อคืนที่ผ่านมา เช่นเดียวกับรถจักรยานยนต์ที่นำมาก่อเหตุ เบื้องต้นพบว่า เป็นของนายมือลี เจะมะสอง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.ธารคีรี ซึ่งเบื้องต้นรับสารภาพว่ารู้จักกับผู้ตายและได้ให้ยืมรถแต่ไม่ทราบว่าจะนำมาก่อเหตุ โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการสอบปากคำ แต่การตรวจสอบที่เกิดก่อกวนในจังหวัดสงขลาทั้งที่ อ.สะบ้าย้อย อ.เทพา และ อ.จะนะ เชื่อว่าเป็นเครือข่ายเดียวกันทั้งหมด
เช่นเดียวกับเหตุก่อกวนใน 5 อำเภอของ จ.นราธิวาส พบว่า ผู้ก่อเหตุเลือกห้วงเวลาในการก่อเหตุช่วงค่ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการผลัดเปลี่ยนเวรและเลือกเป้าหมาย การโจมตีไปที่ชุดคุ้มครองตำบล ที่ตั้งฐานปฎิบัติการบนถนนสายรองเป็นส่วนใหญ่ จึงง่ายต่อการก่อเหตุและหลบหนี อีกทั้งชนิดของระเบิดก็เป็นระเบิดแสวงเครื่อง ที่ผลิตขึ้นมาเอง มีขนาดเล็ก และน้ำหนักน้อย จึงสามารถโยกย้ายหรือซุกซ่อนได้ง่าย จึงสามารถก่อเหตุได้ในเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้เจ้าหน้าที่ซึ่งตั้งฐานปฎิบัติการในชุมชน และส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน ที่อาสามาทำงานต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปฎิบัติหน้าที่มากขึ้น
เหตุก่อกวนใน 12 อำเภอของ จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส และ จ.สงขลา รวม 13 เหตุการณ์ เมื่อคืนนี้ มีเจ้าหน้าที่และชาวบ้านได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 8 คน ขณะที่ผู้ก่อเหตุ เสียชีวิต 2 คนจากระเบิดที่ทำงานผิดพลาด โดยเจ้าหน้าที่ยังให้น้ำหนักไปที่กลุ่มแนวร่วมรุ่นใหม่ถูกที่ล่อลวงให้เข้าร่วมขบวน หลังการตรวจสอบประวัติของผู้ตายทั้ง 2 คน พบว่า บางคนเคยถูกเชิญตัวมาสอบสวนในคดีความมั่นคง ตามความผิดฐานสร้างเหตุก่อกวนมาก่อน
เหตุรุนแรงครั้งนี้ เป็นความไม่สงบที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง หลังวันที่ 6 เม.ย.ได้เกิดเหตุก่อกวนกว่า 20 จุด ทำให้ไฟฟ้าดับเสียหาย หลายฝ่ายจึงกังวลว่า เหตุความรุนแรงที่เกิดมากขึ้น อาจจะส่งผลต่อการเดินหน้าจัดทำพื้นที่ปลอดภัยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการพูดคุยสันติสุขที่อยู่ระหว่างการดำเนินการพิจารณาคัดเลือก 1 ใน 5 พื้นที่เพื่อจัดทำพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง