ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แฉกลโกงประมูลทองออนไลน์

เศรษฐกิจ
20 เม.ย. 60
20:11
2,200
Logo Thai PBS
แฉกลโกงประมูลทองออนไลน์
แฉกลโกงหลอกประมูลทองราคาถูกเฟซบุ๊ก หลังมีผู้หลงเชื่อจำนวนมาก เนื่องจากสามารถชื้อทองได้ในราคาถูก และมีหลายคนที่ถูกหลอกสูญเงินไปกว่า 50 ล้านบาท

จากกรณีที่มิจฉาชีพฉวยโอกาสขายทองผ่านทางเฟซบุ๊กโดยจูงใจว่าเป็นทองราคาถูกกว่าท้องตลาด หากสนใจซื้อสามารถประมูลได้ โดยราคาทองรูปพรรณจะเริ่มต้นที่กรัมละ 1,000 บาท หลายคนหลงเชื่อ เพราะเห็นว่าราคาถูกบางรายได้สินค้าแต่น้ำหนักน้อยกว่าของจริง ขณะที่บางรายสูญเงินเปล่าไม่ได้สินค้า รวมกันกว่า 50 ล้านบาท แต่คนขายปิดเฟซบุ๊กหนีไม่สามารถติดตามตัวได้

นายณัฐศักดิ์ เอกจริยกร เจ้าของร้านทองใน จ.นครปฐม เผยว่า มีลูกค้าเล่าเคยประมูลทอง แม้จะได้จริงแต่ก็ไม่เชื่อถือการขายทองผ่านระบบออนไลน์ ส่วนที่อ้างว่าราคาถูกกว่านั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะราคาทองซื้อขายอ้างอิงตามราคาตลาดโลก ซึ่งได้บอกลูกค้าว่าได้ทองมาในราคาที่ถูกจริง แต่ก็บอกลูกค้าไปว่าในช่วงแรกอาจได้ในราคานี้ แต่ในระยะยาวคงไม่ได้เพราะราคานี้ขาดทุน และของถูกไม่มีในโลก ทองราคาถูกและดีมีแค่ 1-2 ครั้ง พอเมื่อคนประมูลได้เงินก็จะหนีไป

ขณะที่ นพ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกลุ่มเอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก อธิบายว่า การประมูลทองปกติจะมี 2 รูปแบบ คือการประมูลเหรียญทองในหลวงที่หายาก และการประมูลทรัพย์สินที่ถูดยึดมา แต่การกระทำลักษณะดังกล่าวถือว่าเป็นการฉ้อโกง ขณะที่ผ่านมากลุ่มร้านทองไม่เคยมีเจ้าใดที่ประมูล หรือซื้อขายทองผ่านเฟซบุ๊ก เพราะไม่ปลอดภัย

ขณะที่นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า แม้จะพยายามกระจายเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ให้ความรู้การเงินภาคประชาชนแต่การมีโซเชียลมีเดีย ก็มีส่วนให้ ขบวนการหลอกลวงลงทุนเข้าถึงประชาชนง่ายขึ้น หากเกิดความโลภก็ย่อมตกเป็นเหยื่อขบวนการเหล่านี้ได้ง่าย พร้อมเตือนประชาชน ควรตั้งข้อสังเกตและระวังการลงทุนที่มีลักษณะให้ผลตอบแทนสูงกว่าปกติ

ส่วนคดีประมูลทองคำล่าสุดนั้นได้ส่งเจ้าหน้าที่ สศค.เข้าตรวจสอบกับตำรวจแล้วว่า เข้าข่ายความผิดฉ้อโกงและแชร์ลูกโซ่ด้วยหรือไม่ เพื่อดำเนินคดีผู้ต้องหาอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตามนายณัฐ พยงค์ศรี นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ยอมรับว่า การสกัดกั้นเพจผู้ใช้บัญชี ที่ชักชวนลงทุนที่น่าสงสัยทำได้ยากเนื่องจากผู้มีเจตนากระทำความผิด สามารถใช้เทคนิคที่ยากต่อการค้นหา หรือ ยากต่อการติดตามแล้วดึงผู้เสียหายไปพูดคุยในไลน์กลุ่ม หรือ ช่องทางอื่นแทน เป็นต้น กระทรวงดีอีจึงเป็นเพียงหน่วยงานสนับสนุนข้อมูลติดตามเจ้าของบัญชีใช้งานตัวจริง และรวบรวมหลักฐานกระทำความผิด หลังเกิดเหตุความเสียหายไปแล้วมากกว่า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง