การใช้ช่องทางเฟซบุ๊กเพื่อถ่ายทอดสดหรือพฤติกรรมการถ่ายคลิป เพื่อสื่อสารให้สังคมในโลกโซเชียลหรือผู้รับชม เห็นถึงการกระทำที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายหรือฆ่าผู้อื่นตายนั้น เกิดขึ้นมานานกว่า 6 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันมีลิงค์ที่รวบรวมการถ่ายทอดสอดไว้ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเพื่อแสดงให้เห็นว่า ช่วงเวลานั้นมีใครกำลังถ่ายทอดสดบ้างผู้เสพข้อมูลบางคน ยอมรับว่า เคยส่งต่อข้อมูลหรือรับชมคลิปถ่ายทอดสด คลิปฆ่าตัวตาย หรือ คลิปที่แสดงถึงความรุนแรงที่มีผู้โพสต์ลงในอินเทอร์เน็ต แต่เมื่อรับชมแล้วก็นำไปสู่ความสลดใจไม่ต้องการรับชมอีก และไม่รู้ว่าจะต้องแจ้งข้อมูลกับใคร เมื่อพบเห็นเหตุการณ์รุนแรงถ่ายทอดสดผ่านเว็บไซต์
ทีมข่าวไทยพีบีเอสทดสอบ พิมพ์คำค้น ในเว็บไซต์เกี่ยวกับ "การโชว์คลิปฆ่าตัวตาย" พบว่า ระบบประมวลผลไม่ถึง 1 วินาที แต่แสดงผลคำค้นที่เกี่ยวข้องได้มาก กว่า 1.7 ล้านรายการ ภาพและข้อมูลเหล่านี้อาจสะท้อนได้ว่า ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วไป สามารถเข้าถึงเพื่อภาพและข้อมูลเหล่านี้ ได้สะดวกมากขึ้นและพฤติกรรมการส่งต่อข้อมูล หรือการแสดงความคิดเห็น ผ่านช่องทางต่างๆ ในเว็บไซต์และหากดูจำนวนผู้เข้ารับชม พบว่าบางคลิปมียอดจำนวนหลักแสนวิว ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่กว่า 100 ล้านเลขหมาย ส่วนการใช้งานอินเทอร์เน็ต มีผู้เข้าถึงได้ร้อยละ 56 ของจำนวนประชากรไทย
สำนักงาน กสทช. ยอมรับว่า การเข้าถึงสื่อโซเชียลมีเดียทำให้ผู้คนมีโอกาสรับชมเนื้อหาต่างๆ ได้สะดวกมากขึ้นแต่การป้องกันไม่ให้เสพติดความรุนแรง หรือเป็นผู้เผยแพร่ความรุนแรงผ่านโซเชียลมีเดีย อาจต้องเน้นไปที่พฤติกรรมส่วนตัวและความสัมพันธ์ของในครอบครัว
ขณะที่ กรมสุขภาพจิต ขอความร่วมมือประชาชนที่พบเห็นข้อความอย่ากดเข้าชมหรือส่งต่อข้อความหรือคลิปภาพ เนื่องจากังวลว่าจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบการฆ่าตัวตาย หรือการใช้พฤติกรรมรุนแรง และหากพบเห็นให้ช่วยกันแจ้งข้อมูล หรือขอความช่วยเหลือไปที่กรมสุขภาพจิต
สถิติการฆ่าตัวตายพบว่า ปี 2558 คนไทยฆ่าตัวตัวสำเร็จเฉลี่ย เดือนละ 350 คน หรือทุกๆ 2 ชั่วโมง ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญมาจากโรคภัยต่างๆ และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่เกิดจากส่งผลทำให้เกิดการใช้ความรุนแรง ทำร้ายตัวเอง และบุคคลอื่น