วันนี้ (26 เม.ย.2560) ในการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ระบุว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญอย่างมาก หากเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นขื่อแปร กฎหมายเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นเสาหลักที่ค้ำจุนให้ขื่อแปรคงอยู่ ซึ่งจะส่งผล ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือที่ต้องวางหลักเกณฑ์และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยยอมรับว่าค่อนข้างกังวลถึงวิธีที่จะทำให้บุคคลเข้าถึงศาลรัฐธรรมนูญได้ง่ายในขณะเดียวกันจะไม่ส่งผลให้เกิดภาระต่อศาลรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขวิธีพิจารณา ให้มีความสมดุลย์และศาลฯ สามารถทำงานได้
กรธ.สอบถาม 3 ประเด็น ประกอบด้วย วิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ที่บังคับใช้ปัจจุบันมีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร สิทธิของประชาชนในการฟ้องตรง และการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ ศาสตราจารย์พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ในร่างกฎหมายควรกำหนดความหมายที่ชัดเจนของคำว่า "ระบบไต่สวน" เพราะระบบวิธีการไต่สวนของ 9 ตุลาการอาจไม่ตรงกัน รวมถึงความชัดเจนในการกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพื่อวินิจฉัย และรัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดกว้างให้ประชาชนเข้าสู่กระบวนการของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องคำนึงหากมีปริมาณคดีมากไป จะเป็นน้ำท่วมศาล ต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในการยื่นของประชาชนตามที่กำหนดในร่างฯ ที่ส่ง กรธ.ม47
ศ.พิเศษจรัญ เสนอให้ในการพิจารณาคดีต่างๆ ตุลาการสามารถให้คำแนะนำชี้แนวทางปฏิบัติให้ผู้มี่เกี่ยวข้อง และเพิ่มแผนกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อทำหน้าที่ในการเผยแพร่คำวินิจฉัยของตุลาการทุกคน มองว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประชาชนที่เพื่อให้เข้าใจในคำวินิจฉัยของตุลาการ อีกทั้งยังเป็นการยกระดับความคิดของผู้คนในสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
ขณะที่นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาศึกษาหลักการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ เห็นว่าถึงเวลาการสังคายนาระบบไต่สวนให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นซึ่งเป็นการประเดิมของรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วยให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเจ้าภาพในการจัดสัมมนาอบรมให้ความรู้เรื่องระบบไต่สวนให้เป็นแนวทางเดียวกัน
ร่างฯ ที่ กรธ.นำมาเปิดรับฟังความคิดเห็น เป็นร่างที่ศาลรัฐธรรมนูญส่งมา กรธ.ก่อนหน้านี้ มีจำนวน 92 มาตรา เนื้อหาประกอบด้วยองค์ประกอบของศาล การได้มาซึ่งตุลาการ วิธีการพิจารณาคดี และการเปืดเวทีรับฟังความเห็นเป็นไปตาม ม.77 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน และเป็นกฎหมายฉบับที่ 9 ที่ กรธ. เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทั้งหมด 10 ฉบับ จึงเหลือเพียงร่าง พรป.ว่าด้วยผู้ตรวจเงินแผ่นดินที่จะเปิดรับฟังต่อจากนี้