ข่าวสารที่มีผลกระทบและเป็นที่สนใจของประชาชน ถูกโพสต์ผ่านหน้าเพจ Drama-addict เพจชื่อดังในสื่อสังคมออนไลน์ ล่าสุดกับคดีค้าบริการทางเพศที่ จ.แม่ฮ่องสอน ที่บางถ้อยคำอาจกระทบถึงเจ้าหน้าที่รัฐ หากเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนยังคงเป็นไปตามร่างเดิมเพจ Drama – addict จะเข้าข่ายคำนิยามของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ ที่ต้องขึ้นทะเบียนกับสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
แม้จะเห็นด้วยกับเจตนาที่จะมีกฎหมายเพื่อตรวจสอบจริยธรรมสื่อฯ เพราะที่ผ่านมาสื่อบางส่วนนำเสนอเนื้อหาที่ละเมิดจริยธรรม เช่น เหตุการณ์ฆาตกรรมโดยไม่เซนเซอร์ หรือ ถ่ายทอดสดการฆ่าตัวตาย
แต่จ่าพิชิต ขจัดพาลชน เจ้าของเพจดัง ก็ไม่เห็นด้วยที่ให้ตัวแทนภาครัฐเข้าร่วมในกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นร่มใหญ่กำกับดูแลสื่อ ตามมาตรฐานกลางจริยธรรมสื่อมวลชน ที่ครอบคลุมการนำเสนอข้อมูลทั้งถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน รวมถึงไม่ทำให้เกิดความเกลียดชังหรือใช้ความรุนแรงระหว่างกัน โดยจะมีโทษตั้งแต่ ตักเตือน ปรับ และเพิกถอนใบอนุญาต เพราะเชื่อว่า อาจทำให้สื่อภาคพลเมืองเซ็นเซอร์ตัวเอง และยังเป็นมาตรการที่ใช้ได้เฉพาะกับสื่อบางกลุ่มเท่านั้น
แต่ในมุมมองของ ผศ.บุปผา บุญสมสุข หัวหน้าสาขาวิชาวารสารศาสตร์ ดิจิทัล มหาวทิยาลัยรังสิต เชื่อว่า แม้ร่างกฎหมายฉบับนี้จะบังคับใช้ แต่ไม่น่าจะมีผลต่อการทำหน้าที่ของสื่อ หากยึดมั่นทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม แะเห็นด้วยกับหลักการของร่างกฎหมาย ที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปสื่อ เพราะที่ผ่านมามีปัญหาการทำหน้าที่ของสื่อบางส่วนที่ส่งผลต่อวิชาชีพ
ในฐานะที่เคยเคลื่อนไหวคัดค้าน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายพลเมืองเน็ต เห็นว่า แม้ท่าทีล่าสุดของกรรมาธิการสื่อฯ สปท.จะยอมถอย ด้วยการตัดบทบัญญัติเกี่ยวกับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพออก แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายควบคุมสื่อ แม้ที่ผ่านมาจะมีปัญหาการละเมิดจริยธรรม หรือขาดความรับผิดชอบ เพราะมีกสทช.และสมาคมสื่อฯ กำกับดูแลอยู่แล้ว อีกทั้งร่างกฎหมายลักษณะนี้ จะส่งผลต่อกลุ่มบล็อคเกอร์หรือเพจ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลเพราะอาจถูกจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็น เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ ที่มีผู้ถูกดำเนินคดี เพราะกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์