วันนี้ (31 พ.ค.2560) ทุกข์ในใจที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็กและอาชีพในฝันที่ น.ส.สุทธิดา แสงสุมาตร์ ไปไม่ถึง เพราะเข้าใจว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวีมาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จากผลตรวจเลือดและรับยาต้านไวรัสต่อเนื่อง ของแพทย์โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ด การตัดสินใจหยุดกินยาต้านไวรัสมานานกว่า 5 ปี ตั้งแต่ตั้งครรภ์ลูกคนแรก การตรวจเลือดอีก 2 ครั้ง กับโรงพยาบาลอื่นในปี 2555 เและล่าสุดเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ซึ่งให้ผลตรงกันว่าเธอไม่มีเชื้อเอชไอวี รวมทั้งผลตรวจเลือดของสามีและลูกก็ไม่พบเอชไอวีเช่นกัน
“อยากบอกว่าผลตรวจไม่ว่าจะเป็นผลบวกปลอมหรือไม่ หรือจะเป็นผลบวกจริง แต่ตอนนี้ผลมันออกมาเป็นลบ ความรู้สึกตอนนี้คือมันทรมานตั้งแต่ตอนเด็ก มันเป็นความรู้สึกที่รับรู้ได้ว่ามันเจ็บปวด หนูไปเล่นกับใครก็ไม่มีใครเล่นด้วย เขาไล่หนู หนูก็กลับไปนอนร้องไห้คนเดียวที่บ้าน มันไม่มีอะไรที่จะซื้อความรู้สึกหนูได้เลย หนูฝากบอกหมอด้วย” น.ส.สุทธิดา กล่าว
ด้าน น.ส.ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ระบุว่า ที่ผ่านมามีผู้เสียหายจากแพทย์วินิจฉัยผิดพลาดว่าติดเชื้อเอชไอวี เข้าขอความช่วยเหลือหลายกรณี อย่างผู้เสียหายซึ่งเป็นพยาบาลที่จังหวัดภูเก็ต ฟ้องร้องแพทย์และชนะคดีความในศาลชั้นต้น เมื่อปี 2558 หลังผู้เสียหายต้องรับยาต้านไวรัสเอชไอวีนาน 4 ปี และต้องสูญเสียโอกาสไปทำงานต่างประเทศ รวมถึงการสร้างครอบครัว
แต่กรณีที่เกิดขึ้นกับ น.ส.สุทธิดา ที่ทิ้งช่วงเวลารักษากับโรงพยาบาลเดิมมานาน อาจเป็นอุปสรรคในการตรวจสอบประวัติรักษาย้อนหลัง ซึ่งจะพิสูจน์ว่าผู้เสียหายมีเชื้อเอชไอวี หรือเกิดจากการตรวจที่ผิดพลาด
“พี่กังวลว่าเวชระเบียน 10 กว่าปี เขาจะทำลายไปแล้วหรือไม่ เพราะตามกฎหมายจะทำลายภายใน 5 ปี” น.ส.ปรียนันท์ กล่าว
แม้ผลทางการแพทย์ระบุว่า โอกาสตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีพลาด มีได้ร้อยละ 0.3 หรือ ใน 1,000 คน พบได้ 3 คน รวมทั้งร่างกายมนุษย์กำจัดเชื้อเอชไอวีไม่ได้ แต่ถ้ากรณีตรวจพบเชื้อแล้ว ผู้ป่วยยังจำเป็นต้องตรวจเลือดซ้ำอย่างน้อย 3 ครั้ง หรือทุก 6 เดือน เพื่อยืนยันผลไม่ให้เกิดความผิดพลาด พร้อมเป็นแนวทางติดตามผลการให้ยาต้านไวรัสต่อเนื่อง
โดยกรณีของ น.ส.สุทธิดา วันพรุ่งนี้มีกำหนดเดินทางไปตรวจเลือดซ้ำอีกครั้ง ที่ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย