วันนี้(12 มิ.ย.2560) ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือสดร. บอกว่า วันที่ 15 มิ.ย.นี้ เป็นวันที่ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ โดยตำแหน่งที่ดาวเสาร์ โลก และดวงอาทิตย์ เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลาง และยังเป็นตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ที่ระยะทางประมาณ 1,353 ล้านกิโลเมตร โดยจะสังเกตดาวเสาร์ได้ยาวนานตลอดคืน ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดินจนถึงรุ่งเช้าวันถัดไป จะเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 19.30 น. เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องและกลุ่มดาวคนยิงธนู มีสีเหลืองสว่างสุกใส
ทั้งนี้ มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือหากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาที่มีกำลังขยายตั้งแต่ 30 เท่าขึ้นไป จะเห็นวงแหวนดาวเสาร์ได้ชัดเจน และจะตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกในช่วงรุ่งเช้าวันที่ 16 มิ.ย.นี้ การที่ดาวเสาร์ ปรากฏบนท้องฟ้ายาวนานตลอดคืนทำให้เราสามารถสังเกตการณ์ได้หลากหลายรูปแบบ อาทิ การชมด้วยตาเปล่า การมองผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตา ซึ่งจะสามารถมองเห็นวงแหวนของดาวเสาร์ได้อย่างชัดเจน รวมไปถึงการถ่ายภาพวงแหวนดาวเสาร์ เป็นต้น และหลังจากวันที่ 15 มิ.ย.นี้ ยังชมความสวยงามของดาวเสาร์ได้จนถึงประมาณเดือนพ.ย.นี้
ดร.ศรัณย์ บอกว่า ตามปกติดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์หรือใกล้โลกที่สุดเป็นประจำทุกปี และครั้งต่อไปในวันที่ 27 มิ.ย. 2561 โดย สดร. เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์"ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” เริ่มเวลา 18:00-21:00 น. 3 จุด ได้แก่เชียงใหม่ นครราชสีมา และฉะเชิงเทรา ติดตามรายละเอียดสถานที่กิจกรรมได้ที่ www.facebook.com/NARITPage