วันนี้ (14 มิ.ย.2560) นายภูมิพิทักษ์ กองแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงผลการประชุม กกต. ระบุว่า ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ชี้ว่า จะมีการส่งความเห็นแย้งไปยัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ หรือตามกรอบเวลา 10 วัน เบื้องต้นมี 2 ประเด็น คือ มาตรา 26 และ 27 ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 224 (3) วรรค 3 เรื่องเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ กกต. ซึ่งเมื่อมีการส่งคำแย้งจะต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย คือ สนช. กรธ และ กกต. ขึ้นมาพิจารณาว่าสมควรจะปรับแก้ตามคำแย้งหรือไม่ ให้แล้วเสร็จและส่งให้ สนช. พิจารณาอีกครั้งภายใน 15 วัน
นายภูมิพิทักษ์ ชี้แจงว่าใน ในมาตรา 224 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดอำนาจของกรรมการแต่ละบุคคลสามารถสั่งระงับยับยั้งการจัดการเลือกตั้งหากพบการกระทำหรือการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ที่เข้าข่ายทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริต รวมถึงมีอำนาจในการสั่งให้จัดการเลือกตั้งในบางหน่วยหรือทั้งหมดได้ แต่มาตรา 26 ของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กำหนดว่าหากพบการกระทำหรือการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ที่เข้าข่ายทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตให้เสนอเรื่องให้ที่ประชุมกรรมการกกต.พิจารณาสั่งระงับยับยั้งการเลือกตั้งในบางหน่วยหรือทั้งหมด
ขณะที่ใน มาตรา 224 (1) กำหนดหน้าที่ของ คณะกรรมการ กกต.จัดการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และการเลือกตั้งท้องถิ่น รวมถึงการออกเสียงประชามติ แต่ในมาตรา 27 ของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.กำหนดให้ กกต.มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และการออกเสียงประชามติ ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของ กกต. ซึ่ง ที่ประชุมมองว่า ไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ในส่วนของคุณสมบัติและวาระของ กกต.วันนี้มีการพูดคุยในภาพกว้างเท่านั้น เนื่องจากเพิ่งได้รับร่างฉบับสมบูรณ์จาก สนช. ในช่วงบ่าย โดยจะนัดหารือในครั้งต่อไป ส่วนช่องทางที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ มีช่องทางที่ทำได้ แต่ที่ประชุมยังไม่หารือในเรื่องนี้