ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ศอ.บต.ยอมรับยางปูสนามฟุตซอลคุณภาพต่ำ

ภูมิภาค
16 มิ.ย. 60
19:45
1,776
Logo Thai PBS
ศอ.บต.ยอมรับยางปูสนามฟุตซอลคุณภาพต่ำ
ภาพสนามฟุตซอลในจังหวัดชายแดนใต้ ที่แผ่นยางปูพื้นเสื่อมสภาพจนใช้งานไม่ได้ ทำให้มีคำถามว่า เพราะอะไรถึงเป็นเช่นนั้น ไทยพีบีเอสพบว่า แผ่นยางที่พบถูกผลิตจากงานวิจัย ที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์การจัดซื้อจัดจ้างอยู่ในความดูแลของ อบต.แต่ละพื้นที่ จัดหาผู้รับเหมาเอง

การเสื่อมสภาพของสนามฟุตซอล ภายในที่ทำการขององค์การบริหารส่วนตำบลจอเบาะ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส หลังก่อสร้างแล้วเสร็จเพียงแค่ 2 ปี ทำให้อบต.ลุโบะบายะ อำเภอยี่งอ ที่อยู่ห่างออกไม่กี่กิโลเมตร เลือกที่จะใช้ยางปูพื้นชนิด 1 ตารางเมตรต่อแผ่นยาง 1 แผ่น แทนขนาดของยางปูพื้นชนิด 1 ตารางเมตรต่อแผ่นยาง 9 แผ่นซึ่งหลุดร่อนได้ง่าย หลังได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในการจัดทำโครงการสนามฟุตซอล 1 ตำบล 1 สนาม ซึ่งจะให้งบประมาณแก่ อบต. ต่างๆในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน โดยได้ใช้งบประมาณไปแล้ว กว่า 100 ล้านบาท แต่พบหลายแห่งกลับเสื่อมสภาพ โดยนายกอบต.ลุโบะบายะ ให้ข้อมูลว่า การเสื่อมสภาพของสนามเกิดจากอากาศที่ร้อนจัด และฝนตกสลับกันตามภูมิอากาศ อีกทั้งชนิดของยางที่ผู้รับเหมานำมาใช้ซึ่งถูกกำหนดแหล่งที่มาเดียวกันแต่กลับมีคุณภาพต่ำทำให้เกิดการชำรุดเร็วขึ้น

ด้านเลขาธิการ ศอ.บต ยอมรับว่า ยางที่นำมาใช้ในโครงการช่วงแรกปี 2558 ก่อนมารับตำแหน่ง เป็นยางที่มีคุณภาพไม่มากนัก แต่ในห้วงเวลานั้น รัฐบาลมีเจตนาดีที่จะเพิ่มปริมาณการใช้ยางในตลาด จึงทำข้อตกลงร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อนำยางจากนวัตกรรมที่เกิดจากงานวิจัย มาใช้ในโครงการนี้ แต่เนื่องจากสูตรการผลิตยางยังไม่เสถียร ทำให้แผ่นยางกรอบ และเด้งตามรอยต่อระหว่างแผ่นยาง อีกทั้งการก่อสร้างในที่โล่งแจ้งไม่มีหลักคากันความร้อน รวมถึงการขาดความชำนาญของผู้รับเหมาในการปรับสภาพพื้นที่ และการใช้ประโยชน์จากสนามผิดประเภท ทำให้ปัจจุบันมีสนามฟุตซอลที่เสื่อมสภาพประมาณ 20 แห่ง จากจำนวนสนามฟุตซอล ที่ก่อสร้างไปแล้ว จำนวน 198 แห่ง อย่างไรก็ตามได้เร่งรัดให้แต่ละอบต.ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาผู้รับเหมา เข้ามาซ่อมแซม

เอกสารการเบิกจ่ายเงินในแต่ละงวดตามโครงการสนามฟุตซอล 1 ตำบล 1 สนามให้แก่อบต.แต่ละแห่ง จำนวน 1.16 ล้านบาท เป็นเอกสารที่สำนักส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬา นำมายืนยันว่า ศอ.บต ได้จัดสรรงบประมาณเป็นรายพื้นที่ให้แต่ละตำบล โดย อบต.เป็นผู้ดูแล ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด ซึ่งแบ่งการก่อสร้างเป็น 3 ระยะ คือ งานโครงสร้าง งานปูพื้นยาง และงานจัดหาอุปกรณ์สนาม โดยในกรณีที่มีการชำรุดของสนาม ตามข้อตกลงร่วมกันได้ระบุอย่างชัดเจนว่า ให้ผู้รับเหมาที่รับงานจาก อบต. เป็นผู้รับผิดชอบ หากอยู่ในช่วงของการประกัน แต่หากพ้นระยะของการประกันไปแล้ว ให้ อบต. จัดหางบประมาณส่วนอื่นในการซ่อมแซม

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างสนามกีฬาฟุตซอล 1 ตำบล 1 สนาม กำหนดการก่อสร้างให้ได้ 238 สนาม ในช่วง 5 ปี โดยปี 2557 จำนวน 50 สนาม งบประมาณ 57,000,000 บาท ปี 2558 จำนวน 50 สนาม งบประมาณ 58,000,000 บาท ปี 2559 จำนวน 48 สนาม งบประมาณ 55,680,000 บาท ปี 2560 จำนวน 50 สนาม งบประมาณ 58,000,000 บาท และปี 2561จำนวน 38 สนาม งบประมาณ 44,080,000 บาท

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง