วันนี้ (3 ส.ค.2560) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะพี่ชาย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ 1 ใน 4 จำเลยที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เปิดเผยถึงกรณีที่แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ นัดหารือกันวันพรุ่งนี้ กรณีศาลฎีกาฯ ยกฟ้องคดีสลายการชุมนุมว่า ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไร ต้องดำเนินการตามกฎหมาย และหากจะมีการชุมนุมแสดงท่าที ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ก่อนตาม พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ.2559 เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย
ส่วนการประชุม ป.ป.ช.วันนี้ มีการรับทราบผลคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ในฐานะโจทก์ แต่ล่าสุด พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.ระบุว่า ป.ป.ช.ขอเวลาศึกษารายละเอียดคำวินิจฉัยก่อนพิจารณาว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ หากดูจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน การยื่นอุทธรณ์ทำได้ภายใน 30 วัน นับแต่มีคำพิพากษา ต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กำหนดให้เฉพาะจำเลย มีสิทธิยื่นอุทธรณ์กรณีมีหลักฐานใหม่ที่อาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปจากสาระสำคัญ โดยหลักเกณฑ์การยื่นอุทธรณ์และการพิจารณาให้เป็นไปตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ย้ำว่ากรณีนี้เป็นสิทธิที่ ป.ป.ช.จะอุทธรณ์ได้
ทั้งนี้ การยื่นอุทธรณ์ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่มีข้อสังเกตว่าจะมีหลักเกณฑ์การพิจารณาที่แตกต่างกันหรือไม่ เพราะหากยึดตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คดีอาญานักการเมือง พ.ศ.2551 กำหนดว่าพยานหลักฐานใหม่ คือพยานหลักฐานที่ยังไม่เคยปรากฏอยู่ในสำนวนคดี และเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญ ซึ่งผู้ต้องคำพิพากษาไม่รู้หรือไม่มีเหตุอันควรรู้ ว่าพยานหลักฐานดังกล่าวมีอยู่ และจะต้องนำมาแสดงเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ขณะที่ร่างกฎหมายลูกฉบับใหม่ไม่ได้กำหนดเรื่องนี้ไว้