วันนี้ (22 ส.ค.2560) นายราเชนทร์ หรั่งมะเริง ประธานสหภาพรัฐวิสาหกิจฯ การท่าเรือแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าพนักงานไม่มีการทุจริตในการเบิกค่าล่วงเวลาตามที่ดีเอสไอชี้มูลความผิด เพราะจะทำงานล่วงเวลาได้พนักงานจะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาก่อน
ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากการคิดคำนวณค่าโอทีที่ไม่ตรงกัน เนื่องจากหลักเกณฑ์เดิมระบุว่า การท่าเรือฯ เป็นการทำงานด้านขนส่งสินค้าต้องคิดค่าล่วงเวลาในอัตราเหมาจ่ายตามฐานเงินเดือน
แต่เมื่อปี 2556 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้การท่าเรือฯ เป็นการทำงานด้านขนถ่ายสินค้า ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาเป็นรายชั่วโมงตามฐานเงินเดือน จึงขอให้ผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้อง เร่งหารือแนวทางการเบิกจ่ายค่าล่วงเวลาให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
นอกจากนี้มองว่าบอร์ดการท่าเรือฯ ควรตั้งคณะกรรมการสอบสวนและแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน ซึ่งไม่มีความจำเป็นที่จะร้องรอการพิจารณาของ ป.ป.ช.
“ผมไม่ก้าวล่วงการทำงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพราะถือว่าเขาทำงานตามหน้าที่ แต่สิ่งที่ผมให้ข้อมูลถือว่าเป็นข้อมูลส่วนหนึ่ง ว่าเราไม่สามารถทำตามอำเภอใจได้ มันต้องมีระเบียบ มีระบบตรวจสอบทุกอย่างอยู่แล้ว ซึ่งต้องเห็นใจเราด้วย แต่สิ่งที่เราต้องทำต่อไปคือ เราจะทำให้ปัญหานี้เกิดขึ้นต่อไปหรือไม่ พนักงานทุกคน หรือผู้ใหญ่ทุกคนก็คงอยากจะทำให้มันจบ แล้วเดินหน้าต่ออย่างถูกต้องและก็เป็นธรรม” นายราเชนทร์ กล่าว
เรือตรีทรงธรรม จันทประสิทธิ์ รักษาการผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การท่าเรือฯ จะยังไม่ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนจนกว่า ป.ป.ช.จะส่งสำนวนให้อัยการดำเนินการฟ้องร้องคดีอาญา จึงจะพิจารณาตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยต่อไป
ขณะที่ พ.อ.พินิจ ตั้งสกุล ผู้บัญชาการสำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา ดีเอสไอ เปิดเผยว่า ดีเอสไอได้รับเรื่องดังกล่าวมาตรวจสอบตั้งแต่ปี 2556 และ เริ่มทำการตรวจสอบย้อนหลังไป 5 ปี พบข้อพิรุธหลายขั้นตอน เช่น การเบิกจ่ายเงินของพนักงานการท่าเรือไม่มีเอกสารการระบุเวลาปฏิบัติงาน ทำให้ป็นสาเหตุที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องพนักงานการท่าเรือบางแผนกที่ไม่ได้ปฏิบัติงานจริง
นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลที่เข้าข่ายว่าการเบิกจ่ายเงินของพนักงานการท่าเรือกรุงเทพทุจริต เพราะหลักฐานเอกสารการเบิกเงินล่วงเวลากว่า 22 ชั่วโมงของพนักงานบางแผนกไม่สอดคล้องกับการทำงาน
“ผู้อนุมัติถ้าโดยปกติ ไม่มีเอกสารประกอบการเบิก ก็ไม่มีใครเซ็นต์อนุมัติหรอกครับ แต่ข้อเท็จจริงของคดีนี้ปรากฏว่าไม่มีเอกสารประกอบการเบิก แต่มีการเบิกจ่ายโดยตลอด" พ.อ.พินิจ กล่าว
พ.อ.พินิจ กล่าวว่า จากการสืบสวนข้อมูลและหลักฐานทั้งหมด มั่นใจพอสมควรว่ามีผู้ร่วมกระทำผิดดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกอง 9 คน ผู้อำนวยการสำนัก 1 คน และผู้ช่วยผู้อำนวยการ 1 คน รวมพนักงานแล้วกว่า 560 คน ซึ่งดีเอสไอได้ดำเนินการส่งสำนวนการสอบสวนเพื่อขอให้คณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. พิจารณาและดำเนินการต่อเนื่องจากพบมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงเกี่ยวข้อง