กรณีมีการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าขยะจากนโบยบายของ คสช. ที่เอื้อต่อการสร้างโรงไฟฟ้ากำจัดขยะโดยไม่คำนึงถึงเรื่องผังเมือง และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน ทำให้ประชาชนเริ่มออกมาต่อต้านแล้ว เช่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร โรงไฟฟ้าขยะ ต.เชียงรากใหญ่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี
วันนี้ (20 ก.ย.2560) นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยา กรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. ชี้แจงว่า กรณีโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงที่มีขนาดตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.ได้ออกประกาศเรื่องมาตรการป้องกันแก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม
สำหรับผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง ที่จะต้องเสนอรายการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม ให้ กกพ. พิจารณาประกอบการอนุญาต กรณีโครงการจะตั้งอยู่ในพื้นที่อ่อนไหว เป็นโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ เสนอต่อสผ.พิจารณาตามขั้นตอนก่อนการเสนอขออนุญาตกับกกพ. สำหรับรายชื่อโครงการโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยที่ต้องชี้แจงนั้น ตรวจสอบแล้วไม่มีข้อมูลการเสนอรายงานอีไอเอ ให้ สผ. พิจารณาแต่อย่างใด
คพ.ออกคู่มือหลักปฏิบัติ "โรงไฟฟ้าขยะ"
ด้านนางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ หรือคพ.บอกว่า การควบคุการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่บรรยากาศ และกำหนดมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากเตาเผามูลฝอย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรืออปท. ต้องกำกับดูแลให้เอกชนผู้สนใจลงทุนดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและข้อจำกัดของโครงการ เพื่อกำหนดและออกแบบเทคโนโลยี มาตรการป้องกันและแก้ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามเกณฑ์หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องตลอดจนประมวลหลักการปฏิบัติ ( CoP) ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประกาศ เรื่อง มาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง ที่มีกำลังผลิตติดตั้งต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ พ.ศ. 2559
โดยเอกชนผู้สนใจลงทุนต้องดำเนินการด้านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย และผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและลดความวิตกกังวล จากนั้นจะรวบรวมข้อคิดเห็น และข้อห่วงใยมาปรับปรุงและเพิ่มมาตรการมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับลักษณะโครงการและที่ตั้งของโครงการ