ภาพยนตร์
ความพยายามในการหาคำตอบของคำถามที่ว่าทำไมชาวฝรั่งเศสอย่าง ฟร็องซัว ตูเวอเน่ หรือ ฟ. ฮีแลร์ ถึงต้องแต่งแบบเรียนภาษาไทย เป็นปัญหาที่ พงศธร ครูภาษาไทยระดับชั้นประถมศึกษาต้องคิดต่อเพื่อนำมาทำเป็นวิทยานิพนธ์ หากความสงสัยกลับเพิ่มขึ้น เมื่อข้อมูลที่ได้รับทำให้มีคำถามตามมาอีกมากมาย ว่าการแต่งแบบเรียนไทยดังกล่าว เป็นเพราะต้องการเผยแผ่ศาสนาหรือเพื่อสร้างความรู้กันแน่ เรื่องราวในข้างต้นถูกเผยแพร่ผ่านภาพยนตร์ชีวประวัติของชาวฝรั่งเศสผู้แต่งตำราเรียนไทยอย่าง ดรุณศึกษา เรื่อง ฟ.ฮีแลร์ ผลงานกำกับของ สุรัสวดี เชื้อชาติ ที่ต้องการตั้งคำถามผ่านเนื้อเรื่องเพื่อให้ผู้ชมได้คิดตาม
ความสละสลวยของภาษาในคติสอนใจ ที่แปลมาจากสุภาษิตอังกฤษจนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เป็นสิ่งที่พิสูจน์ความสามารถด้านภาษาไทยของ ฟ.ฮีแลร์ ได้เป็นอย่างดี จากจุดเริ่มต้นที่ต้องเดินทางมาสอนหนังสือในประเทศไทย ทำให้ ฟ.ฮีแลร์ มีโอกาสได้ฟังกาพย์พระไชยสุริยาของสุนทรภู่ในแบบเรียนโบราณมูลบทบรรพกิจ จนเกิดความชื่นชอบเนื่องจากเป็นคำกลอนที่มีความไพเราะ จากนั้นจึงตัดสินใจศึกษาภาษาไทยอย่างจริงจังกว่า 9 ปี จนแต่งแบบเรียนเด็กดรุณศึกษาได้สำเร็จ
ปัจจุบันแบบเรียนดรุณศึกษาถูกตีพิมพ์มาแล้ว 60 ครั้ง รวมระยะเวลาตั้งแต่ครั้งแรก นานถึง 105 ปี และยังถูกใช้อยู่แม้ภายนอกจะเปลี่ยนรูปแบบแต่ภายในยังคงเหมือนเดิม
ไม่เพียงแต่หนังสือดรุณศึกษาเท่านั้น แต่ ฟ.ฮีแลร์ ยังได้แต่งวรรณกรรมอีกหลายเล่ม เช่น หนังสืออุโฆษสมัย และอนุสารอุโฆษสาร ที่บันทึกความเป็นไปของประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งวรรณกรรมเหล่านี้ได้สร้างความคิดอ่านให้กับบุคคลสำคัญของไทยหลายคนที่เป็นศิษย์ของ ฟ.ฮีแลร์ อย่าง ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สัญญา ธรรมศักดิ์ และเสนีย์ ปราโมช