วันนี้ (9 ต.ค.2560) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุถึงผลการประชุมกองอำนวยการร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร หรือ กอร.พระราชพิธีพระบรมศพ ว่า ที่ประชุมได้รับทราบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการซ้อมริ้วขบวนพระราชพิธี โดยทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมีการซ้อมริ้วขบวนเพื่่อให้เกิดความพร้อมเพรียงและความเข้าใจอีก 3-4 ครั้ง และอาจจำเป็นจะต้องมีการปิดเส้นทางการจราจรโดยรอบท้องสนามหลวง
พร้อมย้ำว่า จะดูแลภาพรวมมาตรการรักษาความปลอดภัยให้ดีที่สุดและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เดินทางเข้ามาร่วมงานพระราชพิธีฯ อย่างเหมาะสม ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงเส้นทางและระเบียบปฏิบัติในการเข้าร่วมพระราชพิธีเพื่อให้เกิดความชัดเจน
ด้าน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ แถลงผลการ ประชุม กอร.พระราชพิธีฯว่า คณะทำงานทุกฝ่ายมีความพร้อมร้อยละ 98-99 โดยบางจุดอาจยังไม่สามารถนำอุปกรณ์ทั้งหมดลงไปประจำพื้นที่ได้ เพราะยังมีเวลาอีก 2 สัปดาห์ซึ่งการติดตั้งอุปกรณ์บางส่วนอาจจะทำให้ สี ความสวยงามลดลง ซึ่งในส่วนอื่นถือว่าเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว
ทั้งนี้ในที่ประชุม พล.อ.ประวิตร ได้สรุปและสั่งการ 6 เรื่องด้วยกันคือความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการปฏิบัติงานเมื่อวันที่ 7 ที่ผ่านมา ซ้อมเสมือนจริงครั้งที่ 1 ถือว่ามีความพร้อมสมบูรณ์ พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน กำหนดจุดเส้นทางต่างๆ ให้ชัดเจนและตรวจสอบให้เรียบร้อย รวมทั้งให้กำหนดข้อควรปฏิบัติของประชาชน และสื่อมวลชนโดยขอให้กรมประชาสัมพันธ์ ประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย กทม. สันติบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างการรับรู้ทำความเข้าใจกับประชาชน ให้ได้มากที่สุด
โดยเฉพาะประเด็น เข้าร่วมถวายดอกไม้จันทน์ ในแต่ละพื้นที่ สำหรับผู้ที่จะเดินทางมาในกรุงเทพก็ต้องรับทราบข้อมูลข่าวสารในการเดินทางและเตรียมตัวด้วย และในวันที่ 13 ต.ค.นี้ให้ทุกหน่วย ตรวจสอบความพร้อมของแต่ละหน่วยงานที่จะจัดกิจกรรมขึ้นในวันคล้ายวันสวรรคต เพื่อให้มีความสมบูรณ์
ส่วนระบบการติดต่อสื่อสารวันที่ 15-29 ต.ค.จะมีหน่วยงานเข้ามาปฏิบัติในพื้นที่สนามหลวงและศูนย์ประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นจำนวนมาก ขอให้ทุกหน่วยติดต่อ ประสานงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจ
นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ระบุถึงแนวนโยบายการดำเนินงานในพระราชพิธี ในส่วนภูมิภาค ทั่วประเทศว่า กระทรวงมหาดไทยจะใช้นโยบายการดำเนินงานและมาตรการรักษาความปลอดภัย เหมือนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการอำนวยความสะดวกประชาชนในการเดินทาง จุดจอดรถ รวมถึงการรักษาความปลอดภัย
สำหรับแนวทางที่กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการไปแล้ว คือการจัดจุดวางดอกไม้จันทน์ทั่วประเทศ ใน 878 จุด รวมถึงพระเมรุมาศจำลองใน 76 จังหวัด คืบหน้าไปกว่าร้อยละ 95 และซุ้มถวายดอกไม้จันทน์พระราชทาน 802 จุดทั่วประเทศ คืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 90
ทั้งนี้ ได้จัดทำดอกไม้จันทน์ไปแล้วกว่า 61 ล้านดอก ซึ่งทั้งหมดต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 ต.ค.เพื่อให้ทันการประชุมสรุปผลการดำเนินการอีกครั้งในวันที่ 18 ต.ค. โดยกระทรวงมหาดไทย ได้เริ่มซักซ้อมพิธีการถวายดอกไม้จันทน์ กับข้าราชการ และจิตอาสา ให้มีความพร้อมดูแล อำนวยความสะดวกประชาชน นอกจากนี้ได้เตรียมให้แต่ละจังหวัด ได้บันทึกภาพทั้งภาพนิ่ง และเคลื่อนไหวในวันพระราชพิธี เพื่อจัดทำสมุดภาพประวัติศาสตร์ ของประจำอำเภอ และจังหวัดทั่วประเทศ
ขณะที่ พล.ต.ท.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงว่า ได้จัดกำลังตำรวจประมาณ 70,000 นาย ดูแลทุกส่วน ทั้งดูแลความปลอดภัย และด้านจราจร โดยมีจิตอาสาเฉพาะกิจงานพระราชพิธีฯ อยู่รอบพื้นที่ืท้องสนามหลักพันคน และจิตอาสาฯ รอบนอกหลักหมื่นคน
ทั้งนี้ มีการประเมินว่าตั้งแต่ถนนราชดำเนินนอกจนถึงสนามหลวง มีพื้นที่ 150,000 ตารางเมตร สามารถรองรับประชาชนได้ 200,000 - 500,000 คน โดยตั้งแต่ 05.00 น. ของวันที่ 25 ต.ค.2560 จะเปิดจุดคัดกรองให้ประชาชนเข้าสู่พื้นที่ด้านในสนามหลวง ซึ่งทุกคนจะต้องพกบัตรประจำตัวประชาชนมาเพื่อเป็นการแสดงตนหากไม่มีเจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้ผ่าน
ด้าน พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ระบุถึงการเตรียมความพร้อมในเรื่องเส้นทางต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่จะเดินทางมาร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า จะเริ่มปิดการจราจรตั้งแต่เวลา 05.00 น. ของวันที่ 25 ต.ค. ทั้งในถนนราชดำเนินนอก ถนนราชดำเนินใน และถนนราชดำเนินกลาง ในทิศเหนือ ตั้งแต่ลานพระวังดุสิต ทิศใต้ ปากคลองตลาด ทิศตะวันออก แยกสะพานขาว ถนนหลานหลวง และทิศตะวันตก ถนนอรุณอัมรินทร์และแยกบรมราชชนนี โดยไม่อนุญาตให้นำรถยนต์ส่วนตัวเข้ามาในพื้นที่แต่ให้ใช้วิธีเดินเท้าเข้ามายังพื้นที่เท่านั้น
ทั้งนี้ได้จัดพื้นที่สำหรับประชาชนนำรถยนต์ส่วนตัวมาจอดได้รอบกรุงเทพมหานคร ทั้ง 13 แห่ง ซึ่งทั้ง 13 แห่ง สามารถรองรับรถยนต์ได้ถึง 30,000 คัน และมีรถบริการรับส่งประชาชนมายังพื้นที่พระราชพิธี โดยมีจุดจอดรถรับส่ง 5 จุด คือ สนามม้านางเลิ้ง บ้านมนังคศิลา สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง แยกอรุณอัมรินทร์ แยกวิสุทธิกษัตริย์