วันนี้ (18 ต.ค.2560) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทร ทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.กล่าวว่า ที่ประชุมกสทช.มีมติเห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ด้วยการลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต โดยผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่มีรายได้ 0 – 100 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.125 รายได้เกิน 100 ล้านบาท – 500 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.25 รายได้เกิน 500 ล้านบาท – 1,000 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.5 รายได้เกิน 1,000 ล้านบาท – 5,000 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.75 และรายได้เกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป จัดเก็บร้อยละ 1.5
ทั้งนี้ เป็นการปรับลดลงจากอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์รายปีที่จัดเก็บในปัจจุบัน จากเดิมผู้ประกอบกิจการฯ ที่มีรายได้ 0 – 5 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.50
รายได้ส่วนที่เกินกว่า 5 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 0.75
รายได้ส่วนที่เกินกว่า 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 1.00
รายได้ส่วนที่เกินกว่า 500 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท จัดเก็บร้อยละ 1.75
รายได้ส่วนที่เกินกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จัดเก็บร้อยละ 2.00
สำหรับอัตราใหม่เป็นอัตราและขั้นรายได้เดียวกับอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี สำหรับกิจการโทรคมนาคม ซึ่งปัจจุบันยังคงอยู่ในระหว่างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะภายใน 45 วัน และคาดว่านำเสนอบอร์ดไม่ได้เกินต้นเดือนธันวาคม และบังคับใช้ได้ไม่เกินปลายเดือนธันวาคม
ชี้ข้อเสนอเยียวยา "ทีวีดิจิทัล" เกินอำนาจ กสทช.
ส่วนข้อเสนอของผู้ประกอบกิจการ ในนามสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) นำโดยนายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมฯ ยื่นข้อร้องเรียนต่อนายวิษณุ เครืองาม และคณะกรรมการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. เพื่อขอให้หาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการ หลังจากประกอบกิจการทีวีดิจิทัลช่วง 5 ปี โดยอ้างว่าประสบปัญหาทำให้ขาดทุน และกระทบต่ออุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลทั้งระบบ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่าให้เป็นหน้าที่ของ กสทช.ตัดสินใจ
นายฐากร ระบุว่า ข้อเสนอบางประเด็นเกินอำนาจ กสทช. และกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำ เช่น การใช้เงินของกสทช.ที่เหลือจากการแจกคูปองทีวีดิจิทัล 3,000 - 4,000 ล้านบาท มาจ่ายแทนผู้ประกอบการ ในส่วนของค่าเช่าโครงข่ายเสาสัญญาณแพร่ภาพที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล จำนวน 22 ช่อง ต้องเช่าเสาโครงข่ายช่อง 5, ThaiPBS, ช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวี และช่อง NBT ออกอากาศแต่ละปี ประมาณเฉลี่ยกว่า 2,500 ล้านบาท
รวมถึงข้อเสนอที่ว่า หากผู้ประกอบการต้องการยกเลิกประกอบกิจการทีวีดิจิทัล จะขอไม่จ่ายเงินชนะประมูลในส่วนที่เหลืองวดที่ 5 และ 6 ซึ่งขณะนี้มีมูลค่ารวมกว่า 16,837 ล้านบาท ( 24 ช่อง) จะสามารถทำได้หรือไม่ ประเด็นนี้เคยหารือกันหลายครั้งแล้ว เนื่องจากเงินรายได้ที่เกิดจากการประมูลทีวีดิจิทัล จะต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน การไม่เก็บงวดที่เหลือนั้น เกินอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ซึ่งหากจะแก้ปัญหาจริงจะต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง หรือไม่ก็ใช้ช่องทางเสนอหัวหน้า คสช.ให้ใช้มาตรา 44 แต่ประเด็นเหล่านี้ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมา กสทช.เสนอหัวหน้า คสช. เพื่ออาศัยอำนาจตามมาตรา 44 แก้ปัญหาทีวีดิจิทัลมาแล้ว โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2559 กำหนดให้ผู้ประกอบการฟรีทีวี ปัจจุบันเหลือ 22 ช่อง เลื่อนชำระเงินในงวดที่ 4 ซี่งครบกำหนดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ได้ โดยแบ่งซอยย่อยงวดประมูลออกเป็น 8 งวด สำหรับผู้ที่ต้องการเลื่อนจ่ายเงินประมูล (ส่วนผู้ที่ไม่ต้องการเลื่อนจ่ายเงินประมูลให้จ่ายทุกเดือนพฤษภาคมตามเดิม ในอีก 2 งวดที่เหลือ)
นอกจากนี้ ยังสั่ง กสทช.จ่ายค่าเช่าโครงข่ายออกอากาศทางดาวเทียม ให้บริษัท ไทยคม จำนวน 2,500 ล้านบาท แทนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทั้ง 22 ช่อง เพื่อให้เป็นไปตามมัสแครี่ย์ ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องออกอากาศรายการได้ในทุกช่องทางโครงข่าย