ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"อานันท์ ปันยารชุน" พูดทั้งน้ำตา เมื่อรำลึกถึงในหลวง รัชกาลที่ 9

สังคม
24 ต.ค. 60
16:44
10,623
Logo Thai PBS
"อานันท์ ปันยารชุน" พูดทั้งน้ำตา เมื่อรำลึกถึงในหลวง รัชกาลที่ 9
อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์รายการแสงจากพ่อ น้อมศิระกราน เสด็จสู่สวรรคาลัย และออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา

ช่วงปีเศษที่ผ่านมา เราเห็นคนไทยแสดงพลังและความสามัคคี เหมือนเป็นหนึ่งเดียวจากความรู้สึกที่เกิดขึ้น มองสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมและให้ความหมายอย่างไรในมิติเรื่องพลังทางสังคม

จากการที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงสวรรคต เมื่อวันที่ 13 ต.ค.2559 เป็นเหตุการณ์ที่นำความเศร้าสลดมาสู่พสกนิกรเป็นอย่างมาก เพราะพวกเราที่เกิดมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 ได้เห็นว่าท่านทรงครองราชย์เป็นเวลา 70 ปี โดยคำนึงถึงความเป็นธรรม ประโยชน์สุขของชาวสยาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านให้พระราชปณิธานไว้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อปี พ.ศ.2493 ตลอดเวลาที่ท่านทรงครองราชย์ ท่านมีความแน่วแน่ที่จะดำรงชีวิตและดำเนินกิจการตามพระปฐมบรมราชโองการ

คนไทยรักท่านเหมือนพ่อ ทั้งรักและเคารพบูชา แล้วก็สนิทสนม ท่านเป็นนักประชาธิปไตยคนหนึ่งที่ไม่ต้องอ้างทฤษฎีต่างๆ แต่ท่านเข้าถึงใจประชาชน ไม่ว่าท่านจะเสด็จฯไปที่ไหน ที่ทุรกันดาร ที่ห่างไกลจากความเจริญของเมืองต่างๆ ท่านสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา ชาวเขา คนไร้ยาก ท่านแสดงความรักของท่านต่อราษฎร ซึ่งเป็นการทำไปโดยธรรมชาติ นั่งพื้นกับประชาชน ทุกสิ่งที่ท่านทำไม่ได้แสร้ง แต่เป็นพระราชนิสัยธรรมชาติที่เข้าถึงคน เข้าถึงใจคนทุกหมู่เหล่า ทุกพื้นที่ ทุกชั้นวรรณะ ไม่คำนึงถึงศาสนา การเมืองและสิ่งใดๆ ทั้งสิ้น ทุกกลุ่มรู้สึกได้รับความเป็นธรรม คนไทยรักท่านเหมือนลูกรักพ่อ

เราพึ่งท่านมา 70 ปีแล้ว ท่านไม่อยู่กับเราแล้ว ความว้าเหว่ทำให้คนไทยรู้สึกว่า เราขาดสิ่งที่สำคัญของชีวิต ทุกคนใจหายหมด ความโศกเศร้าที่มี ความว้าเหว่ ความอ้างว้าง ไม่ถึงกับความสิ้นหวัง แต่เป็นจังหวะเดียวที่คนไทยได้แสดงความซื่อสัตย์กตัญญูต่อพระองค์ท่าน

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา คนเกือบ 13 ล้านคนเข้าสักการะพระบรมศพฯ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 10 ก็ทรงมีพระราชปณิธานว่าจะสืบทอดพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้กำลังใจคนไทยที่สูญเสียกษัตริย์องค์หนึ่ง แต่ก็มีกษัตริย์อีกองค์หนึ่งมาแทน และทรงสืบทอดพระราชปณิธานของพระราชบิดา และมีโครงการที่น่าประทับใจที่รัชกาลที่ 10 ทรงสร้างจิตอาสาให้กับคนไทยในการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ผูกโยงกับงานพระบรมศพฯ

คนเกือบ 3 ล้านคน รวมใจกันสมัครเป็นจิตอาสา ทำงานทุกอย่างด้วยความพร้อมเพรียงและความสงบ คน 13 ล้านคนที่เข้ากราบพระบรมศพฯ เข้าแถวตากแดด ตากฝน มาไม่รู้กี่ครั้งกี่หน บางครั้งผมเห็นเขายืนนิ่งด้วยความสงบ ถือร่ม ตัวเปียก ไม่มีการยืนหยอกล้อกัน เขามาด้วยจิตใจแน่วแน่ที่จะถวายความเคารพพระบรมศพฯ ทำให้เราเห็นสภาพความสงบของประเทศ ว่าในการสูญเสียพระองค์ท่านไป ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในใจของทุกคน ว่าจะต้องหันหน้าเข้าหากัน ทำอะไรร่วมกันและอยากสืบทอดสิ่งดีงามที่เห็นมา 70 ปี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความอดทน ความเสียสละ ความรู้รักสามัคคี การใช้ชีวิตพอเพียง การศึกษาใฝ่หาความรู้ การสร้างภูมิคุ้มกัน การไม่ท้อถอย ในหนังสือพระมหาชนกก็พูดถึงสิ่งเหล่านี้ การไม่ยอมแพ้เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่า ทุกอย่างท่านไม่ได้สอนด้วยการพูด คนไทยเรียนรู้จากการที่เห็นว่าพ่อเราทำได้อย่างไร ทุกสิ่งทุกอย่างที่รัชการที่ 9 ทรงทำ ท่านไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่มีวินาทีใดที่ท่านทำเพื่อตัวเอง ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่คนไทยต้องเรียนรู้มากขึ้น การเห็นแก่ตัว เห็นแก่พรรคพวก เห็นแก่หน่วยงาน ทุกสิ่งทุกอย่างท่านสอนว่าอย่าเอาแต่ได้ อย่ามักง่าย ให้มีความเมตตา เผื่อแผ่ นึกถึงส่วนรวม ถ้าคนไทยได้เรียนรู้และดำรงชีวิตในขอบเขตนี้ ผมว่าเมืองไทยก็มีความสุข ถึงแม้พระองค์ท่านจะไม่อยู่แล้ว แต่ความทรงจำที่มีอยู่ ไม่ได้จำเฉพาะโครงการพระราชดำริเรื่องต่างๆ แต่ถ้าเราได้เรียนรู้วิธีปฏิบัติ การดำเนินชีวิตของพระองค์ท่าน แล้วเราทำตามแบบนั้น ถึงแม้ท่านจะไม่อยู่กับเรา แต่จิตวิญญาณท่านก็ยังสถิตย์อยู่ เหมือนเป็นแสงไฟที่ส่องทางให้กับมวลชนชาวสยาม เดินไปในทิศทางที่ถูก ที่เหมาะสม เป็นประโยชน์ต่อส่วนร่วมและเพื่อความมั่นคงของชาติ

ทั้งหมดที่พูดมามีคุณค่าต่อสังคมไทยอยู่แล้ว เราจำเป็นหรือไม่ที่ต้องร่วมกันสร้างบรรยากาศ เพื่อให้สภาวะนี้อยู่ต่อเนื่อง

1 ปีที่ผ่านมา คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดว่าส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายที่ คสช.ดำเนินการควบคุมสถานการณ์ แต่อีกส่วนที่เราทุกข์ร่วมกัน มันมาจากจิตใจ ถ้าเรายึดมั่นในสิ่งที่เกิดขึ้น ร่วมกันแสดงความโทมนัส ร่วมกันสักการะ ถ้าเราร่วมกันรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ก็จะไม่ทำให้นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างไม่มีเหตุผล ท่านพูดเสมอว่าการมีคุณธรรม ความพอเพียง คือการทำอะไรโดยใช้เหตุผล

ในอดีตที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงก็เพราะว่า ต่างฝ่ายต่างมีทิฐิมานะ เถียงกันโดยไม่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง เป็นอารมณ์และฝ่ายหนึ่งต้องชนะ แต่ถ้าดูสิ่งที่ท่านพยายามปลูกฝังนิสัยคนไทยคือการเข้าถึง การใช้เหตุผล การระวังจิตใจอีกฝ่ายหนึ่งที่ความเห็นไม่ตรงกัน ถ้าฝ่ายที่มีความเห็นไม่ตรงกัน เขารู้สึกว่าเขาไว้ใจได้ เขาเชื่อใจได้ มันชนะครึ่งหนึ่งแล้ว เข้าใจเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการพูดคุยกันให้รู้เรื่อง ต่างคนต่างเข้าใจกัน วันหนึ่งก็จะหาทางมาพบกันตรงกลางได้

แล้วมาถึงการพัฒนา จะทำโครงการอะไรที่ไหน เช่น โครงการหลวง แม่ฟ้าหลวง ท่านทำโดยศึกษาก่อน ถามความเห็นของผู้ที่อยู่ในเขตนั้นก่อนว่าเขามีปัญหาอะไร ทุกโครงการของพระองค์มีการปรึกษาหารือเสมอ ต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน แล้วทำร่วมกัน ถ้าเรายึดหลักเหล่านี้ได้เมืองไทยจะสงบ ความเห็นต่างก็มีได้ แต่ไม่ถึงกับสู้รบกัน ท่านสอนให้คนไทยมีสติ

ในฐานะที่บริหารประเทศมาและรู้จักคนไทยเป็นอย่างดี โอกาสที่ช่วงเวลาที่คนไทยน้อมใจ หลายคนบอกว่าจะเดินตามรอยพระองค์ท่าน

ก็ข้อให้เป็นจริง ซึ่งอยู่ที่แต่ละคน เพราะพูดมันพูดง่าย แล้วเชื่อหรือเปล่าว่าตัวเองจะทำ เพราะทุกอย่างมันอยู่ที่พฤติกรรมของตัวเอง แต่ถ้าทุกคนช่วยกันพยายาม ส่งเสริม โอกาสสำเร็จมันก็มี

ช่วงนี้หลายฝ่ายประกาศว่าจะน้อมนำแนวทางของพระองค์ท่านมาปฏิบัติ คิดว่ารัฐบาล ภาคประชาสังคม ควรจะใช้โอกาสนี้สร้างระบบอะไรของสังคมขึ้นมาใหม่ เพื่อที่จะทำตามเสมือนว่าพระองค์ท่านยังอยู่

ผมว่าสิ่งที่พวกเรายังมีหน้าที่ แต่ไม่ค่อยได้ทำในอดีต คือการตรวจสอบตัวเองว่ามีอะไรบกพร่องหรือเปล่า ซึ่งรัชกาลที่ 9 เคยรับสั่งคล้ายกับเป็นคำสอนว่า พระเจ้าอยู่หัวทำผิดได้ แล้วท่านก็ยกตัวอย่างว่าแม้แต่โครงการพระราชดำริ ไม่ใช่จะออกมาสมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ มันจะมีผลข้างเคียงบางอย่างที่ไม่ได้คิดถึง ก็ต้องมีการทักกัน พระองค์ท่านตรวจสอบตัวเองตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะก่อนที่เราจะไปสอนหรือแนะนำผู้อื่น เราต้องมีจุดอ่อนน้อยที่สุด ไม่งั้นถูกย้อนกลับ แต่พระองค์ท่านรู้ ทุกอย่างไม่ใช่ถูกต้องเสมอไป ข้อบกพร่องมี ต้องทักท้วงกัน ตรวจสอบตัวเองสำคัญมาก การตรวจสอบไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบทกฏหมาย เพราะกฎหมายก็ไม่ได้สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์

หมายความว่าไม่ต้องเรียกร้องให้ออกมาตรการใดๆ

ก็ส่งเสริมได้ แต่อยู่ที่ตัวเราเอง สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ

หลายคนมีความกังวลอยู่เงียบๆ ว่าสิ่งที่บอกว่าจะทำตามรอยพระองค์ท่าน นานๆอาจค่อยๆจางไป จะมีวิธีจัดการอย่างไรเพื่อไม่ให้จางไปตามระยะเวลา

ถ้าเราฝึกให้เป็นนิสัยได้ นิสัยไม่เปลี่ยนง่าย ยิ่งเวลาผ่านไป ความทรงจำก็จางไป ผมยกตัวอย่างคนที่ไม่พูดโกหก อีก 30 ปีคุณก็พูดอย่างเดิม แต่ถ้าคุณเริ่มพูดปดหรือแต่งเรื่องขึ้นมา อีก 3 เดือนคุณก็จำไม่ได้ว่าแต่งเรื่องอะไร ทุกสังคมไทย ต่างประเทศ จุดอ่อนคือมีข้อมูลมากไป ข่าวลือ ข่าวอกุศล โซเชียลมีเดียมีปัญหามาก คนที่เสพโซเชียลมีเดียน่าสงสาร เพราะไม่ได้อยู่ในโลกของความจริง

ถ้าจะไม่ให้จางไปพร้อมกับเวลาที่ผ่านเลย มีคำแนะนำอะไรต่อรัฐบาล ปัจเจกและประชาสังคม

ผมไม่อยากเสนอแนะรัฐบาล เพราะผมก็ห่างเหินจากรัฐบาลแล้ว ผมอายุอย่างนี้แล้ว ผมมองตัวเองมากกว่า ถ้ามีใครไม่ชอบผม มันไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ผมอยากรู้ว่าทำไมเขาถึงไม่ชอบผม

มีคำแนะนำอย่างไร ที่จะให้ความทรงจำเรื่องในหลวงเป็นนิสัยของคนไทยอย่างยืนยาว

ก็ที่พูดมา มันไม่ใช่เรื่องความทรงจำเรื่องในหลวง แต่เป็นความทรงจำกับสิ่งที่ท่านสอน สิ่งที่ท่านอบรมบ่มนิสัยของเรามา แล้วมันก็จะติดตัวไป

แล้วก็กลายเป็นนิสัยของสังคมไทยด้วยใช่ไหม

หวังว่าจะเป็นอย่างนั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง