วันนี้ (30 ต.ค.2560) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย เปิดเผยว่า แผนปฏิรูปกฎหมายจัดทำเสร็จแล้ว โดยไม่มีความหนักใจหากกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าประชาชนต้องการก็ต้องพลักดัน ซึ่งฝ่ายการเมืองต้องฟังเสียงประชาชน โดยย้ำว่าตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดการปฏิบัติของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 13 ด้านต้องเกิดภายใน 1 ปี นับแต่ประกาศรัฐธรรมนูญ หรือภายในวันที่ 5 เม.ย. หากไม่มีการปฏิบัติจะถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามยอมรับว่ามีการปรับแก้กฎหมายจำนวนมาก เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำ กฎหมายวิสาหกิจเพื่อสังคมรวมทั้งการพิจารณายกเลิกกฎหมายบางฉบับ เช่น กฎหมายขายฝาก ซึ่งต้องพิจารณาร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านที่เกี่ยวข้องด้วย
นายบวรศักดิ์ ระบุว่า ในวันที่ 31 ต.ค.นี้ นายวิษณุ เครืองงาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เชิญคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการจัดทำแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ หารือในเวลา 14.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังจากนั้นคาดว่าจะมีแนวทางที่ชัดเจนขึ้น
นอกจากนี้ คณะกรรมการเตรียมรับฟังความเห็นระหว่างวันที่ 1-30 พ.ย.นี้ 3 ช่องทาง คือ 1.รับฟังผ่านเอกสารลายลักษณ์อักษรจากส่วนราชการ 2.เชิญหน่วยงาน 20 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแผนการปฏิรูปมาให้ความเห็น ซึ่งเริ่มในวันพุธที่ 1 พ.ย.นี้ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
และสุดท้ายจัดเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชน 5 จังหวัดจะเริ่มในวันที่ 15 พ.ย.นี้ ที่ จ.เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร โดยตั้งคำถามถึงประเด็นกลไกการจัดทำกฎหมายของประเทศเป็นกฎหมายที่ดีออกมาเท่าที่จำเป็น การทบทวนกฎหมายเก่าล้าสมัยที่ไม่จำเป็น และกลไกให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายได้ง่ายขึ้น
หลังจากนั้นจะวิเคราะห์ข้อเสนอนำมาปรับแผนการปฏิรูปให้เสร็จก่อน 24 ธ.ค.นี้ หลังจากนั้นอีก 1 เดือน สศช.จะนำแผนการปฏิรูปฯของ 13 คณะมาจัดทำแผนเดียวกันที่ไม่มีข้อขัดแย้งคาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงปลายเดือน ม.ค.2561 เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเห็นชอบ ก่อนส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี