วันนี้ (13 พ.ย.2560) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวการตรวจพบยานอนหลับชนิดใหม่อีทิโซแลม (Etizolam) ได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดย นพ.สุขุม ระบุว่า เมื่อช่วงเดือน ก.ย.- ต.ค.2560 สำนักยาและวัตถุเสพติด และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ร่วมกันตรวจวิเคราะห์ของกลางที่ส่งตรวจจากสถานีตำรวจภูธร 7 แห่งในเขต จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา รวม 10 ตัวอย่าง
โดยยาดังกล่าวมีลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบน สีส้ม ด้านหนึ่งมีตัวพิมพ์ "5" และอีกด้านเป็นสัญลักษณ์ "4 แฉกพร้อมตัวพิมพ์ 028" บรรจุในแผงอลูมิเนียมสีเงินและสีแดง แผงละ 10 เม็ด บนแผงพิมพ์ภาษาอังกฤษระบุผลิตในประเทศญี่ปุ่น และชื่อยา "Erimin 5" พบว่าเป็นยาปลอม เนื่องจากตรวจไม่พบส่วนประกอบที่เป็นยาไนเมตาซีแพม (Nimetazepam) ที่ปกติจะพบอยู่ในยา Erimin 5 และจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 มักนำไปใช้ทดแทนยาเสพติด ซึ่งมีการแพร่ระบาดมากในสถานบันเทิงเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ สามารถยืนยันการตรวจของกลางทั้ง 10 ตัวอย่าง พบว่าเป็นยาอีทิโซแลม (Etizolam) ซึ่งเป็นยานอนหลับชนิดใหม่ที่เพิ่งตรวจพบครั้งแรกในประเทศไทย
นพ.สุขุม กล่าวเพิ่มเติมว่า ยาอีทิโซแลม มีสูตรโครงสร้างทางเคมีและการออกฤทธิ์คล้ายกับยานอนหลับในกลุ่มเบนโซไดอาซีปีนส์ เป็นยากลุ่มกดประสาทที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีฤทธิ์ทำให้ง่วงซึม โดยในประเทศญี่ปุ่น อิตาลีและอินเดีย อนุญาตให้ใช้เป็นยาสำหรับรักษาโรควิตกกังวลที่มีภาวะซึมเศร้าและอาการนอนไม่หลับ แต่ก็มีอาการไม่พึงประสงค์และอาการข้างเคียง เช่น ทำให้ง่วงซึมระหว่างวัน กล้ามเนื้ออ่อนแรง พูดจาเลอะเลือน เดินเซ ง่วงนอน อาจมีอาการกล้ามเนื้อรอบดวงตาหดเกร็งตัว ในผู้ป่วยที่ใช้ยามากกว่า 1 เดือนจะกดระบบหายใจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ยังทำให้เสพติดและมีการนำไปใช้ทดแทนยาอี ขณะที่หลายประเทศได้ตระหนักถึงอันตรายและแนวโน้มการนำไปใช้ในทางที่ผิดของยาชนิดนี้ จึงกำหนดให้เป็นสารที่ต้องควบคุมตามกฎหมาย เช่น ประเทศเดนมาร์ก เยอรมนี สหรัฐอเมริกาในรัฐฟลอริดา อลาบามา เวอร์จิเนีย เท็กซัส เป็นต้น
ล่าสุด มีรายงานข่าวกรณีมีผู้เสียชีวิตจำนวน 6 คนในสกอตแลนด์ เมื่อปี พ.ศ.2559 เนื่องจากใช้ยาไดอาซีแพมปลอมที่บางตัวอย่างมีส่วนผสมของยาอีทิโซแลม โดยสหราชอาณาจักรประกาศให้เป็นยาควบคุมกลุ่ม C ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับการควบคุมวัตถุออกฤทธิ์ชนิดอัลปราโซแลม (Alprazolam) และไดอาซีแพม (Diazepam) นอกจากนี้ยาดังกล่าวเป็น 1 ใน 16 ชนิดที่องค์การสหประชาชาติจะมีการทบทวนและพิจารณาการควบคุมทางกฎหมายระดับสากล ในการประชุม ECDD (Expert Committee on Drug Dependence) ครั้งที่ 39 ระหว่างวันที่ 16-20 พ.ย.2560
สำหรับในประเทศไทย เนื่องจากยาดังกล่าวไม่มีจำหน่าย หรือไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนในประเทศ จึงยังไม่ถูกควบคุมหรือประกาศให้เป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ยาอีทิโซแลมเริ่มมีการแพร่ระบาดและมีแนวโน้มนำไปใช้ในทางที่ผิดในประเทศไทย ซึ่งเป็นการตรวจพบครั้งแรก จึงทำให้ต้องมีการเฝ้าระวัง ปราบปรามและพิจารณทบทวนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบถึงอันตราย