ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถ้าจะช่วย "คนช็อก" ต่อหน้าต่อตา ต้องไปเรียนทำ CPR ที่ไหน ?

สังคม
16 พ.ย. 60
19:30
5,189
Logo Thai PBS
ถ้าจะช่วย "คนช็อก" ต่อหน้าต่อตา ต้องไปเรียนทำ CPR ที่ไหน ?
หน่วยงานทางการแพทย์ระบุว่าการเรียนรู้เรื่องการฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน หรือ CPR เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องได้รับการอบรม แต่การอบรมกลับไม่เข้าถึงประชาชนและมีบริการไม่เพียงพอ หากต้องการอบรมเรื่องนี้ต้องทำอย่างไร ต้องไปที่ไหน ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์มีคำตอบแล้ว

กรณีการเสียชีวิตของนายธนัท ฉิมท้วม หรือ โจ บอยสเก๊าท์ สะท้อนให้เห็นว่าความรู้เรื่องการฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน หรือ CPR เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนต้องเรียนรู้ เพราะการทำ CPR ควบคู่กับการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED ภายในเวลา 4 นาที จะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตของผู้ที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้

แต่คำถามคือ เราจะสามารถเรียนรู้เรื่องการฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน หรือ CPR ควบคู่กับการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED ได้ที่ไหนบ้าง

ข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ หาคำตอบนี้ พบว่า การเรียนรู้เรื่องนี้ยังค่อนข้างจำกัด เนื่องจากไม่มีหน่วยงานเฉพาะ ที่ทำหน้าที่อบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้กับประชาชน มีเพียงบางหน่วยงานเท่านั้นที่เปิดอบรม ซึ่งมีทั้งฟรีและเสียค่าใช้จ่าย

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เปิดเผยว่า สพฉ.ไม่มีบริการอบรมการทำ CPR และการใช้เครื่อง AED ให้กับประชาชน แต่การทำ CPR และการใช้เครื่อง AED เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องรู้ ซึ่งสามารถเรียนรู้ผ่านคลิปวิดีโอด้วยตัวเอง หรือเรียนรู้ผ่านการอบรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น มหาวิทยาลัยแพทย์ โรงพยาบาล สภากาชาดไทย ทั้งนี้ ยังไม่มีสถาบันหรือองค์กรใดมีหน้าที่จัดการอบรมโดยตรง

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ในอนาคตประเทศไทยอาจต้องพัฒนาการเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ในรูปแบบโรงเรียนสอนพิเศษ พ่อแม่สามารถส่งลูกเรียนเป็นวิชาเสริม หรือเรียนพร้อมกับลูกได้

โรงเรียนสอนพิเศษนี้ จะกระจายตัวอยู่ในชุมชนทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึง

 

เรียนทำ CPR ที่ไหน ?

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร ประธานคณะทำงานพิจารณาความเหมาะสมการมอบและติดตั้งเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) ให้ข้อมูลว่า คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำบันทึกความร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความร่วมมือให้ความรู้การทำ CPR ควบคู่ กับ AED ให้กับประชาชน โดยสามารถรับการฝึกอบรมได้ดังนี้

1.โรงพยาบาลรัฐและเอกชนใกล้บ้าน

2. มูลนิธิ หรือ อาสาสมัครที่เปิดอบรม

3.สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์(มีค่าใช้จ่าย) และสภากาชาดไทย (มีค่าใช้จ่าย)

4.บริษัทจำหน่ายเครื่อง AED (เมื่อสั่งซื้อสินค้า) 

แพทย์และพยาบาลจิตอาสา จัดอบรม CPR ฟรี

มีแพทย์และพยาบาลจิตอาสา เปิดเพจผ่านเฟซบุ๊กรับสมัครประชาชนเข้าอบรมการทำ CPR ควบคู่ กับ AED โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด 

พญ.วัชราวลัย วัฒนลีลารัตน์ นายแพทย์ชำนาญการ สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน หรือหมอในห้องฉุกเฉินที่จังหวัดชัยนาท เจ้าของเพจ CPR ริมเขื่อน – เรียงหิน กล่าวว่า เธอเปิดเพจร่วมกับ พญ.ธิติพร ถนอมทรัพย์ เพราะอยากให้ความรู้เรื่องการฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานและการใช้เครื่อง AED กับประชาชนทั่วไป เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปช่วยเหลือคนอื่นๆ หรือคนในครอบครัวระหว่างรอรถพยาบาลได้

เพจ CPR ริมเขื่อน – เรียงหิน อบรมให้ประชาชนรุ่นที่ 1 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และจะอบรมรุ่นที่ 2 ในวันที่ 18 พฤศจิกายน โดยครั้งนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก คาดว่าเหตุการณ์การเสียชีวิตของ “โจ บอยสเก๊าท์” ทำให้ประชาชนตื่นตัวที่อยากจะเรียนรู้ 

พญ.วัชราวลัย เล่าว่า 2 ปีกว่าที่เป็นหมอในห้องฉุกเฉิน พบว่าส่วนใหญ่ญาติจะพาคนไข้ที่หมดสติมาถึงโรงพยาบาลโดยไม่มีการทำ CPR ส่งผลให้โอกาสการรอดชีวิตลดลง คิดว่าหากความรู้เรื่องการฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานกระจายไปสู่ประชาชนจำนวนมากๆ โอกาสของคนไข้รอดชีวิตก็จะมีมากขึ้น

ถ้าเรามัวแต่รอรับคนไข้ที่โรงพยาบาล ประชาชนก็ไม่มีโอกาสเรียนรู้เรื่องนี้ แต่ถ้าเราลุกออกไปบอกเขาข้างนอก เขาอาจจะค่อยๆ รู้เพิ่มขึ้น ดีกว่าที่จะมานั่งเป็นฝ่ายรออย่างเดียว

ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตรัง และกาญจนบุรี สามารถสมัครเข้าอบรมกับแพทย์และพยาบาลจิตอาสาได้ที่เพจ CPR ในสวน / CPR at trang / CPR ในสวน at Kanchanaburi

 

 

ติดตั้งเครื่อง AED ที่ไหน ?

เมื่อเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED มีความสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน แต่ก็ยังมีข้อสงสัยว่า เครื่อง AED มีอยู่ในสถานที่ไหนบ้าง ที่เราจะสามารถนำมาใช้ควบคู่กับการทำ CPR

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร กล่าวว่า ปี 2558 คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ออกประกาศให้การใช้ “เครื่อง AED” เป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อรักษาชีวิตหรือช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินขณะรอคอยปฏิบัติการแพทย์ ซึ่งการใช้มือปั๊มหัวใจมีโอกาสรอดร้อยละ 5 แต่หากใช้เครื่อง AED โอกาสรอดถึงร้อยละ 50 ส่งผลให้คนไทยกล้าใช้เครื่อง AED มากขึ้น 

เครื่อง AED จะติดตั้งในพื้นที่ที่มีคนจำนวนมาก ส่วนพื้นที่ที่มีการติดตั้งแล้ว มีดังนี้


- สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินเชียงใหม่ สนามบินภูเก็ต สนามบินสงขลา
- สถานีรถไฟหัวลำโพง สถานีรถไฟเชียงใหม่ (บางส่วน) สถานีรถไฟฟ้า BTS และ MRT
- สถานีขนส่งหมอชิต สถานีขนส่งเชียงใหม่ สถานีขนส่งนครราชสีมา สถานีขนส่งขอนแก่น สถานีขนส่งสงขลา
- ห้างสรรพสินค้า อาทิ มาบุญครอง ห้างเซ็นทรัล
- สนามมวย สนามจัดแข่งขันฟุตบอลลีก
- สถานที่ท่องเที่ยวขนาดใหญ่ อาทิ ภูกระดึง น้ำตกเอราวัณ สวนสัตว์เชียงใหม่
- โรงแรมขนาดใหญ่
- โรงเรียนนานาชาติ
- มหาวิทยาลัยรัฐ – เอกชน
- สถาบันพระปกเกล้า
- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
- เครือปูนซีเมนต์ไทย
- สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญทางศาสนา อาทิ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ทั้งนี้ ในแต่ละปีประเทศไทยมีประชาชนเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน กว่า 54,000 คน เท่ากับว่าในทุกๆ 1 ชั่วโมง มีคนเสียชีวิตจากโรคหัวใจมากถึง 6 คน และเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยทุกเพศ ทุกวัย

 

 จุฑาภรณ์ กัณหา ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง