ทีมข่าวไทยพีบีเอส ลงพื้นที่ตรวจสอบฝายน้ำล้นที่ตั้งอยู่บริเวณคลองบ้านสวนลุ่ม ต.สามตำบล อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช ชาวบ้านบริเวณนั้นเล่าให้ทีมข่าวว่า ฝายนี้สร้างมาได้เกือบ 2 เดือน แต่วันที่ทีมข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าบางจุดของฝายเริ่มมีรอยแตกร้าวและมีน้ำไหลผ่านใต้ฝาย
ทีมข่าวพบว่าฝายน้ำล้นแห่งนี้เกิดการชำรุด ขณะเดียวกันยังพบรถแบคโฮกำลังเร่งขุดดินเพื่อแก้ปัญหาทางไหลของน้ำในคลองชั่วคราว เป็นไปได้ว่าผู้รับเหมางานสร้างฝายรับทราบเรื่องปัญหาเฉพาะหน้าและกำลังซ่อมแซม โดยนายกระบิล มณี ชาวบ้าน ต.สามตำบล เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากคลองสายนี้ ซึ่งนายกระบิลเห็นด้วยกับโครงการสร้างฝายน้ำล้น แต่กังวลว่าฝายจะไม่สามารถต้านทานแรงของน้ำในช่วงฤดูฝนได้
เช่นเดียวกับนายมานิต โยธาราช ที่มีบ้านและสวนอยู่ติดกับคลองสำนักขัน ต.สามตำบล คลองหลังบ้านของเขาเป็นอีกหนึ่งจุดที่มีการก่อสร้างฝายน้ำล้นและฝายน้ำล้นในคลองสำนักขันกำลังชำรุด น้ำในคลองลอดผ่านใต้ฝายไปได้
โครงการก่อสร้างฝายน้ำล้นจำนวน 31 ฝายใน อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช เป็นโครงการต่อเนื่องมาจากโครงการฟื้นฟูคลองเก่า สร้างคลองใหม่ พัฒนาคลองซอย ที่สำนักตรวจเงินแผ่นดิน จ.นครศรีธรรมราช ได้ตรวจสอบพบว่าการกำหนดราคากลางบางส่วนอาจทำให้รัฐเสียหายและให้ตั้งคณะกรรมการสอบผู้กำหนดราคากลางแล้ว
ทีมข่าวตรวจสอบโครงการก่อสร้างฝายน้ำล้น พบว่าโครงการนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2560 งบประมาณ 23,830,000 บาท กำหนดก่อสร้างฝายน้ำล้นจำนวน 31 ฝายและก่อสร้างถนนสำหรับให้น้ำล้นผ่าน จำนวน 3 โครงการ มีเอกชนให้ความสนใจเข้าซื้อซองประกวดราคามากถึง 127 ราย แต่เมื่อถึงเวลายื่นซองประกวดราคา กลับมีเอกชนเข้าประกวดราคาเพียงรายเดียว จึงทำให้เอกชนรายนี้เป็นผู้ชนะการประกวดราคา คือห้างหุ้นส่วนจำกัด เจี้ยงยี่ก่อสร้าง เสนอราคาที่ 22,700,000 บาท ต่ำกว่าราคากลาง 1,130,000 บาท เฉลี่ยราคาก่อสร้างฝายละประมาณ 730,000 บาท
นายสุรศักดิ์ ไชยรักษา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสามตำบล ผู้เสนอโครงการนี้ เปิดเผยว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการนี้ขึ้นอยู่กับระบบกลาง ทำให้เมื่อได้ผู้รับเหมามาแล้วต้องเริ่มโครงการ ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นผู้รับเหมาต้องรับผิดชอบตามสัญญา
ภายหลังทีมข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบการก่อสร้างฝายน้ำล้นได้ 2 วัน นายประพนธ์ รักษ์เกลี้ยง ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 14 เปิดเผยกับทีมข่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบการก่อสร้างเช่นเดียวกัน เบื้องต้นอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล
โครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมของ อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 14 ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดการประมูลงานถึงมีเพียงบริษัทเดียวที่เข้าประกวดราคา ทั้งที่มีมากกว่า 100 บริษัทเข้ามาซื้อซองเอกสารประกวดราคาจึงอาจเข้าข่ายการฮั้วประมูลหรือไม่ ขณะที่ สตง.กำลังให้ความสนใจและเข้ามาตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นงบประมาณกลุ่มจังหวัดที่สนับสนุนมาอย่างเร่งด่วนและดำเนินการอย่างเร่งรีบ