ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"แอมเนสตี้" ชวนคนทั่วโลก "เบรก" ไทยดำเนินคดีค้านโรงไฟฟ้าเทพา

Logo Thai PBS
"แอมเนสตี้" ชวนคนทั่วโลก "เบรก" ไทยดำเนินคดีค้านโรงไฟฟ้าเทพา
"แอมเนสตี้” ชวนผู้สนับสนุนทั่วโลกกว่า 7 ล้านคนส่งข้อความ เรียกร้องรัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดี ต่อชาวบ้านคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.เทพา ที่อาจถูกดำเนินคดี 35 คน ขณะที่ สผ.ชี้แจงอีกรอบ ยืนยันกฟผ.จัดส่งรายงานโรงไฟฟ้า-ท่าเรือ ตามขั้นตอน และรับฟังความเห็นปชช.

วานนี้ (6 ธ.ค.2560) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกปฏิบัติการด่วน ชวนผู้สนับสนุนที่มีอยู่มากกว่า 7 ล้านคนทั่วโลกให้ร่วมกันส่งจดหมาย อีเมล และแฟกซ์ เรียกร้องทางการไทยให้ยุติการดำเนินคดีใดๆ ต่อผู้ร่วมชุมนุมคัดค้านแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน อ.เทพา จ.สงขลา ซึ่งการรณรงค์นี้จะมีไปถึงวันที่ 15 มกราคม 2561

ปฏิบัติการด่วนนี้มีขึ้นหลังจากที่ผู้ชุมนุมประมาณ 100 คนเดินทางไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรใน อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อยื่นจดหมายคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ต่อมามีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุม มีผู้บาดเจ็บเล็กน้อยทั้งสองฝ่าย ตำรวจจับกุมผู้ชุมนุมจำนวน 16 คน เพื่อดำเนินคดีในข้อหากีดขวางทางสาธารณะ และใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ต่อมา 28 พ.ย.ศาลจังหวัดสงขลา กำหนดวงเงินประกันของชาวบ้าน 15 คน รายละ 90,000 บาท และอนุญาตให้ตำรวจควบคุมตัวชั่วคราวพวกเขาได้ ส่วนผู้ชุมนุมอีกคนหนึ่งเป็นเยาวชนวัย 16 ปี ได้รับประกันตัวออกมาด้วยวงเงินประกัน 5,000 บาท

และวันที่ 29 พ.ย.ชาวบ้านทั้ง 15 คนได้รับการปล่อยตัวหลังจากอาจารย์มหาวิทยาลัยใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกันแทนเงิน แต่เมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า อยู่ระหว่างเตรียมขอหมายจับชาวบ้านเพิ่มเติมอีก 20 คน ซึ่งคาดว่าจะมีการออกหมายจับเพิ่มเติมอีกในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

ทั้งนี้ แอมเนสตี้เชิญชวนผู้สนับสนุนทั่วโลกส่งจดหมาย อีเมล และแฟกซ์ เพื่อเรียกร้องให้ทางการไทยยุติการดำเนินคดีใดๆ ต่อชาวบ้านและนักกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเดินขบวนดังกล่าว เพราะเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกค

 

สผ.ชี้กฟผ.ทำขั้นตอนก.ม.ครบถ้วน 

นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือสผ. ชี้แจงกรณีนายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร ม.เกษตร ศาสตร์ เสนอให้ทบทวนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยต้องอิงตามความต้องการพลังงานและรับฟังความเห็นของชาวบ้าน

โดยระบุว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เป็นโครงการตามแผน PDP 2015 ของกระทรวงพลังงาน ใช้ถ่านหินบิทูมินัสซับบิทูมินัสที่นำเข้าจากต่างประเทศเป็นเชื้อเพลิงหลัก และใช้ชีวมวลภายในประเทศเป็นเชื้อเพลิงเสริม และเข้าข่ายโครงการลำดับที่ 11 ที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ซึ่งการพิจารณารายงาน ทาง คชก. ได้พิจารณารายงาน และให้ความเห็นเป็นไปตามหลักวิชาการ ซึ่งความเห็นของ คชก. ไม่ใช่การอนุมัติโครงการ แต่จะใช้ประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาอนุมัติโครงการของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535

ในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดขอบเขตพื้นที่ศึกษาไว้มากกว่าข้อกำหนดขั้นต่ำในแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของ สผ. ที่กำหนดรัศมีพื้นที่ศึกษาไม่น้อยกว่า 5 กิโลเมตร ตัวอย่างเช่น การศึกษาผลกระทบทางด้านคุณภาพอากาศ มีการศึกษาครอบคลุมพื้นที่กว้าง 30 กิโลเมตร ยาว 30 กิโลเมตร หรือคิดเป็นขนาดพื้นที่ 900 ตารางกิโลเมตร ซึ่งผลการศึกษาพบว่าคุณภาพอากาศดีกว่าค่ามาตรฐาน นอกจากนี้ การศึกษาด้านสมุทรศาสตร์และชายฝั่ง การศึกษาด้านคมนาคมขนส่งทางบกและทะเล การศึกษาด้านการใช้น้ำและการระบายน้ำ การศึกษาครอบคลุมถึงพื้นที่บางส่วนในจ.ปัตตานีด้วย

ส่วนกระบวนการจัดทำและพิจารณารายงาน EHIA ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นได้ตลอดทุกขั้นตอน ตั้งแต่ในการจัดทำรายงาน EHIA ซึ่งจะต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงฯ โดยมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างน้อย 3 ครั้งและทำแบบสอบถามรวมแล้วกว่า 12,000 คน ส่วนในขั้นตอนการพิจารณารายงาน EHIA สผ.ได้เปิดโอกาสให้ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโครงการสามารถจัดส่งข้อมูลความคิดเห็นหรือข้อวิตกกังวลต่อโครงการให้ สผ.นำเสนอ คชก. เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณารายงานฯ

 

EHIA ท่าเทียบเรือยังไม่ผ่านความเห็นชอบ 

สำหรับโครงการท่าเทียบเรือสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น เป็นการก่อสร้างท่าเทียบเรือเพื่อขนถ่ายถ่านหินให้กับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา รองรับเรือขนาดระวางบรรทุกประมาณ 13,000 เดทเวทตัน มีความยาวหน้าท่า 300 เมตร เข้าข่ายโครงการในลำดับที่ 9 ที่ต้องจัดทำรายงาน EHIA ตามประ กาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นลำดับประเภทโครงการที่แตกต่างจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ในการพิจารณารายงานของทั้ง 2 โครงการได้พิจารณาภาพรวม และมีการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวด ล้อม จากกิจกรรมการดำเนินการที่เกี่ยวข้องร่วมกันไว้ด้วย ทั้งนี้ คชก.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน จะประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญคนละสาขากับด้านการพิจารณาโครงการด้านโรงไฟฟ้าเพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างรอบคอบ ที่ผ่านมา คชก ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำได้พิจารณารายงานแล้ว จำนวน 2 ครั้ง

โดยในการประชุมครั้งที่ 5/2560 เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา  ได้มีมติให้ กฟผ.ปรับปรุงและเพิ่มเติมข้อมูลเพิ่มเติมในรายงานฯ ใน 11 ประเด็นหลัก เช่น ประเด็นรายละเอียดโครงการและวิศวกรรมโครง สร้าง ประเด็นสมุทรศาสตร์และวิศวกรรมชายฝั่ง ประเด็นอุทกวิทยา การระบายน้ำ และจัดการน้ำเสีย ประเด็นคุณภาพน้ำทะเล ประเด็นทรัพยากรชีวภาพ และประเด็นสังคมและการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน กฟผ. อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม ยังไม่ได้เสนอรายงานชี้แจงเพิ่มเติมต่อ สผ.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง