วันนี้ (15 ธ.ค.2560) มีการจัดงานเสวนาในหัวข้อ "ถุงพลาสติก เราใช้ ใครต้องจ่าย" ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ที่ร่วมกันทำวิจัยและแนวทางการปรับตัว หากมีการประกาศมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมขึ้นในอนาคต เพื่อไปสู่เป้าหมายในการงดใช้ถุงพลาสติก โดยมีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยาการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการภาคเอกชน และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้าร่วมในการเสวนาครั้งนี้
วงเสวนาได้หยิบยกประเด็น การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก 1-2 บาท ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนนี้ โดยนายสุรศักดิ์ เหลืออร่ามศรี รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอว่า ผู้บริโภคควรเป็นผู้ร่วมจ่าย เนื่องจากถุงพลาสติกไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นพฤติกรรมการทิ้งขยะของประชาชน
รวมถึงหากเรียกเก็บกับผู้ผลิตก็จะไม่ช่วยให้เกิดความตระหนัก เนื่องจากมองว่าภาระได้เกิดขึ้นกับตัวเอง ซึ่งสอดคล้องกับแบบสอบถามประชาชนกลุ่มตัวอย่าง 2,000 คน พบว่าร้อยละ 57 เห็นด้วยกับมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก
รศ.นิรมล สุธรรมกิจ มองว่า การเก็บค่าธรรมเนียมควรให้เวลาในการปรับตัวอย่างน้อย 1-2 ปี เริ่มจากห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ ที่มีระบบตรวจสอบการซื้อถุงพลาสติกได้จากใบเสร็จรับเงิน และนำเงินที่ได้จากค่าธรรมเนียมไปร่วมรณรงค์ให้กับร้านค้าในชุมชนตระหนักถึงปัญหาขยะในประเทศไทย
ในงานวิจัยยังได้รวบรวมข้อมูลทะเบียนราษฎร์ในปี 2559 โดยคำนวนจากประชาชนช่วงอายุ 15-65 ปี ประมาณ 47 ล้านคน หากมาตรการเก็บค่าธรรมเนียม 1 บาท ส่งผลต่อการลดใช้ถุงพลาสติกลดลงร้อยละ 50 จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมอยู่ที่ประมาณ 3,660 ล้านบาทต่อปี แต่ที่มากกว่านั้นคือการสร้างจิตสำนึกในการลดใช้ขยะที่ไม่จำเป็นอย่างได้ผล