"ลดใช้ถุงพลาสติก" เป็นสิ่งที่หลายหน่วยงานร่วมกันรณรงค์ เพื่อต้องการสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนในเรื่องของขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ทว่าปัญหาดังกล่าวไม่มีทีท่าว่าจะลดลง สาเหตุส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการรณรงค์จำกัดอยู่ในวงแคบ หรือเป็นการรณรงค์ในพื้นที่เฉพาะของหน่วยงานนั้นๆ แต่คนในสังคมจำนวนมากยังขาดการรับรู้และยังไม่ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงนำมาสู่แนวคิดที่จะผลักดันให้มีการออกกฎหมายเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถุงพลาสติก
ภาคอุตสาหกรรมผลิตถุงพลาสติก ถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบหากมีการประกาศเก็บค่าธรรมเนียม ไม่ว่าจะเก็บจากผู้ผลิตเอง หรือเก็บจากผู้ที่ต้องการใช้ถุง ก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตหรือความต้องการสั่งซื้อของผู้ประกอบการ
นายสุรศักดิ์ เหลืองอร่ามศรี รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวในงานเสวนา "ถุงพลาสติก เราใช้ ใครต้องจ่าย?" ซึ่งจัดขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า สนับสนุนและเห็นด้วยกับแนวทางการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถุงพลาสติก แต่การแก้ปัญหานั้นต้องแก้ให้ถูกจุด เพราะปัญหาไม่ได้เกิดจากถุงพลาสติก การเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกต้องเก็บเพื่อสร้างจิตสำนึกและให้ลดการใช้งาน ที่สำคัญคือผู้บริโภคต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย
อย่ามองว่าพลาสติกคือผู้ร้าย เพราะเราอยู่แบบไม่มีพลาสติกไม่ได้ แต่อะไรต่างหากที่เป็นต้นเหตุของปัญหา ควรมองตรงนั้นมากกว่า ที่ผ่านมาเราไม่ได้แก้ปัญหาให้ตรงจุดว่าจริงๆ แล้วถุงพลาสติกคือปัญหา หรือการทิ้งขยะ หรือการจัดการขยะ คือปัญหากันแน่
รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก กล่าวอีกว่า หากเก็บค่าธรรมเนียมกับผู้ผลิตจะไม่เกิดผล เพราะผู้บริโภคก็ยังใช้ถุงพลาสติกเหมือนเดิม ดังนั้นผู้ที่ใช้ถุงพลาสติกควรเป็นผู้ร่วมจ่าย เพื่อสร้างจิตสำนึก แล้วนำเงินที่ได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมมาให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องการคัดแยกขยะ ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาทั้งระบบ อีกทั้งยังเป็นการรองรับธุรกิจในอนาคต
ส่วน "ร้านสะดวกซื้อ" เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องใช้ถุงพลาสติกจำนวนมากในแต่ละวัน อีกทั้งยังมีความใกล้ชิดกับผู้บริโภคโดยตรง หากมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับการรณรงค์เพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก ก็อาจช่วยให้ผู้บริโภคสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้
นายสำเร็จ ศรีพงษ์กุล รองผู้จัดการทั่วไปด้านกลยุทธ์ภาพลักษณ์องค์กร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อรายใหญ่อย่างร้านเซเว่น อีเลฟเว่น (7- Eleven) มองว่า ขยะพลาสติกเกิดจากพฤติกรรมของคน ดังนั้นต้องลดความต้องการใช้ของคนมากกว่าการลดจำนวนถุง
ผู้บริหาร บ.ซีพี ออลล์ฯ ยังเปิดเผยอีกว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยบางแห่งเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก ก็ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี แต่มาตรการดังกล่าวเป็นการจัดการภายในมหาวิทยาลัยและมีกฎระเบียบที่ชัดเจนว่าหากจะรับถุงพลาสติกต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่หากมองภาพใหญ่ในสังคมไทยก็ต้องอาศัยกฎหมาย เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันและต้องมีโมเดลในการเก็บ โดยหากจะเก็บเงินจากถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว ก็ต้องมีถุงทางเลือกให้กับผู้บริโภคด้วย เช่น ถุงพลาสติกรีไซเคิล ถุงกระดาษ หรือถุงผ้า
ขณะเดียวกันบริษัทได้กำชับพนักงานให้สังเกตการซื้อสินค้าของลูกค้า หากซื้อสินค้าชิ้นเล็ก 1-2 ชิ้นก็ให้สอบถามลูกค้าว่าจะรับถุงพลาสติกหรือไม่ โดยช่วงแรกมีปฏิกิริยาตอบกลับจากลูกค้าในเชิงลบ แต่บริษัทก็ยังดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ สอบถามข้อมูลจากผู้จัดการร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งในย่านวิภาวดีรังสิต เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ถุงพลาสติก หรือการปฏิเสธที่จะรับถุงพลาสติกของผู้บริโภค โดยระบุว่า
ลูกค้าส่วนใหญ่จะรับถุงพลาสติกเพื่อใส่สินค้า และก็มีลูกค้าบางคนที่ขอถุงเพิ่ม ส่วนลูกค้าที่ปฏิเสธไม่รับถุงก็มีอยู่บ้างเวลาที่เขาซื้อของชิ้นเล็ก หรือซื้อของเพียงชิ้นเดียว
สำหรับ "ผู้บริโภค" ที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน หากมีการประกาศใช้มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก แต่ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็เป็นผู้ก่อมลพิษจากการใช้ถุงพลาสติกด้วย ซึ่งหลายฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ หรือแม้แต่นักวิชาการบางคน ต่างเห็นพ้องกันว่าควรจัดเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกจากผู้ซื้อสินค้าซึ่งเป็นผู้ใช้ถุงพลาสติก แต่แนวทางดังกล่าวก็นำมาซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างกันของผู้บริโภค
น.ส.วิไลภรณ์ พิทักษ์ไทรทอง พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เปิดเผยกับทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า ที่ผ่านมาก็รับรู้ในเรื่องของการรณรงค์ให้ลดการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งส่วนตัวก็ใช้ถุงผ้า แต่ก็มีบ้างที่ใช้ถุงพลาสติก เพราะมีความสะดวกมากกว่า และถุงที่ได้มาก็สามารถนำมาใช้เป็นถุงขยะได้ พร้อมกันนี้เธอยังสะท้อนความรู้สึกเมื่อรู้ว่ามีการผลักดันให้เก็บค่าธรรมเนียมกับผู้ที่ต้องการใช้ถุงพลาสติก
ถ้าจะเก็บเงินกับคนที่ขอรับถุงพลาสติก รู้สึกว่าไม่ค่อยยุติธรรมเท่าไหร่ เพราะถุงพลาสติกก็ยังมีความจำ แม้จะไม่มาก แต่ก็มีความจำเป็นในเวลาที่ต้องถือของเยอะๆ ในที่สาธารณะ
แตกต่างกับนายณัฐพงศ์ สุภากาย พนักงานบริษัทเอกชน ที่เห็นด้วยกับแนวคิดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถุงพลาสติก โดยกล่าวว่าไม่รู้สึกว่าได้รับผลกระทบ เพราะบางห้างฯ ก็มีการเก็บเงินอยู่แล้วหากต้องการรับถุงเพิ่ม จึงคิดว่าเป็นแนวทางที่ดี เพราะอย่างน้อยหากคนรู้สึกว่าต้องจ่ายเงินเพิ่มกับถุงพลาสติก คนก็จะใช้น้อยลง
ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยนิด้าโพล ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 2,000 คนทั่วประเทศ พบว่า ร้อยละ 89 เห็นด้วยว่าขยะถุงพลาสติกเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐต้องเร่งแก้ไข ขณะที่ร้อยละ 88 เห็นว่าการใช้ถุงพลาสติกมีส่วนทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน ส่วนร้อยละ 63 เห็นว่าทุกคนควรมีส่วนร่วมในการแบกรับต้นทุนการจัดการขยะถุงพลาสติก
นอกจากนี้ยังมีความเห็นเกี่ยวกับมาตรการลดการใช้ถุงพลาสติก โดยพบว่าร้อยละ 78 ของกลุ่มตัวอย่าง เห็นด้วยกับนโยบายห้ามใช้ถุงพลาสติก ขณะที่ร้อยละ 57 เห็นด้วยกับการเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติก เพราะมองว่าจะช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หากในอนาคตมีการประกาศเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกจริง ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคก็ย่อมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน แล้วคุณคิดว่า "ใครต้องเป็นผู้จ่าย?"
ดวงกมล เจนจบ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์